เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: คุณโชคดีแค่ไหน....ที่ได้ปลูกถ่ายไต ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

เข้าครัวกับโภชนากร

3. กลุ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
ข้าวและแป้ง ผู้ป่วยควรได้รับประมาณ 50% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทข้าว แป้ง ที่ผ่านการขัดสีแล้ว เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสน้อยลง เนื่องจากผู้ป่วยมักมีปัญหาฟอสฟอรัสในเลือดสูง จึงต้องระมัดระวังฟอสฟอรัสจากอาหาร อาทิ เมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว ช็อกโกแลต โกโก้ หอยแมลงภู่แห้ง ปลาไส้ตัน กุ้งแห้ง โคล่า ไข่แดงและผลิตภัณฑ์จากนม ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวเพราะการสะสมฟอสฟอรัสในร่างกายมากจะมีผลต่อระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และวิตามินดี ทำให้เกิดภาวะกระดูกผุ และอาการกล้ามเนื้ออ่อนเพลียได้ ผู้ป่วยควรศึกษาทำความเข้าใจในผลการตรวจเลือดของตนเอง เพื่อปรับการรับประทานอาหาร อาหารจากแป้งที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ข้าวคลุกกะปิ ข้าวคลุกน้ำพริก ข้าวผัดแหนม ข้าวแกงกะทิ ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนน้ำพริก มันทอด ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี ข้าวเหนียวดำ-แดง หมี่ซั่ว มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว อาหารเหล่านี้มีส่วนผสมของฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม ในปริมาณที่สูงมากและบางชนิดมีไขมันอิ่มตัวมาก

4. อาหารกลุ่มไขมันและน้ำมัน
ไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นหลักไขมันมีทั้งในพืชและสัตว์ ไขมันยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันได้อีกด้วย ผู้ป่วยควรได้รับไขมัน ประมาณ 30% ของพลังงานทั้งหมด ผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันในเลือดสูงได้ คือ มีโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ควรเลือกรับประทานน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันองุ่น น้ำมันรำข้าว ฯลฯ ส่วนน้ำมันที่ควรหลีกเลี่ยงคือน้ำมันที่มาจากสัตว์ทั้งหมด

5. เครื่องปรุงรส
การได้โซเดียมหรือกินเค็มมากเกินไปจะทำให้มีน้ำสะสมในร่างกายมากตามไปด้วย เมื่อมีน้ำมากจะเกิดความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หรือหัวใจวายได้ง่าย ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไต ควรรับประทานอาหารและเครื่องปรุงรสในอาหารไม่ให้เกิน 2,400 มก./วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่คนปกติควรได้รับ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

ความเสี่ยงหลังจากการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยทั่วไปควรระวังเรื่องของการติดเชื้อในร่างกายเนื่องจากผู้ป่วยกินยากด ภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีผลทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำลง และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นอาหารที่ควรระวังและหลีกเลี่ยงมีดังนี้

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด อาหารหมักดอง
  • อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ แปรรูปที่ไม่ได้มาตรฐาน มีส่วนผสมของสารปรุงแต่งรสชาติ สี และไขมันสูง อาทิ แหนม ไส้กรอก แฮม เบคอน เอ็นไก่ หนังหมู เป็นต้น
  • อาหารสุกๆ ดิบๆ ที่ไม่ผ่านความร้อนหรืออาหารที่ซื้อจากร้าน ผู้ป่วยต้องมั่นใจในความสะอาดของขั้นตอนการผลิตเนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
  • น้ำและน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
  • น้ำร้อนจัดและเย็นจัด เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร

เมื่อคุณมีโอกาสที่ดีในการปลูกถ่ายไต ต้องพึงระลึกเสมอว่าคุณเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดเพราะยังมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสนั้น ฉะนั้นขอให้คุณปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้..ไตอยู่กับคุณนานเท่านาน

ความอร่อยของอาหารที่เราต้องการ มิได้ทำให้เกิดประโยชน์อันใดแก่ร่างกาย ในบางครั้งยังทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เราไม่สามารถเรียกคืนกลับมาดังเดิมได้.....กินเพื่ออยู่และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าจะดีกว่ากินแค่อร่อยปากเพียงอย่างเดียวคุณละคิดอย่างไรค่ะ

อ้างอิง

ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.