เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: คุณโชคดีแค่ไหน....ที่ได้ปลูกถ่ายไต

เข้าครัวกับโภชนากร

"การผ่าตัดเปลี่ยนไต" ไม่ใช่การตัดไตเดิมของผู้ป่วยทิ้งไปและใส่ไตใหม่แทน ความจริงแล้วมิได้มีการตัดไตเดิม (ยกเว้นบางกรณี เช่นไตมีการติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มโรคที่มีขนาดไตใหญ่มาก) ไตเดิมอยู่ด้านหลังของช่องท้องส่วนไตใหม่ใส่เข้าไปอยู่ที่ด้านหน้าของช่องท้อง ในปัจจุบันจึงนิยมใช้คำว่า "การปลูกถ่ายไต" แทนคำว่า "การผ่าตัดเปลี่ยนไต" เนื่องจากให้ความหมายได้ถูกต้องมากกว่า

ผู้ป่วยคนไหนบ้างที่ควรจะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต

ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกคนจะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ผู้ป่วยที่สมควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตควรมีคุณสมบัติดังนี้คือ

  • อายุไม่ควรจะเกิน 55 ปี เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอายุมากผลในระยะยาวไม่ดี เมื่อเทียบกับผู้ป่วยซึ่งมีอายุน้อยกว่า
  • ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อการดมยาสลบผ่าตัด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคติดเชื้อรุนแรง ฯลฯ
  • จะต้องมีความพร้อมทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนพร้อมที่จะร่วมมือในการรักษาและมาตามนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

หลังผ่าตัดเปลี่ยนไตแล้วผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

เพื่อที่จะให้ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายคงอยู่กับผู้ป่วยและทำงานได้ตามปกติได้นานเท่าที่จะนานได้ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวดังนี้

  • ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ ห้ามงดยาเอง เพื่อให้ร่างกายยอมรับไตที่ปลูกถ่ายโดยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งยานี้ต้องรับประทานตลอดชีวิต
  • ต้องเข้ารับการตรวจหลังผ่าตัดตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีไข้หรือมีอาการผิดปกติรู้สึกเจ็บป่วยไม่สบายห้ามซื้อยารับประทานเอง ต้องไปพบแพทย์ที่ดูแลรักษาอยู่ประจำ ทั้งนี้เนื่องจากหลังผ่าตัดอาจจะมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากยา ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหรือร่างกายไม่ยอมรับไตที่ปลูกถ่าย
  • หลีกเลี่ยงไปในแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

รู้จักกินช่วยป้องกันไม่ให้ไตเสื่อม

เมื่อปลูกถ่ายเปลี่ยนไตแล้ว ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต การรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้การทำงานของไตที่ปลูกถ่ายมีประสิทธิภาพการทำงานเป็นปกติได้นานเท่าที่จะนานได้ ฉะนั้น การรับประทานอาหารจะต้องเลือกรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันมิให้ไตที่ปลูกถ่ายแล้วทำงานหนักมากจนเกินไป หากไตที่ปลูกถ่ายทำงานหนักมากจนกระทั่งเสื่อม สามารถกลับมาเป็นโรคไตเรื้อรังได้อีกเช่นเดียวกัน

การรับประทานอาหารควรเลือกที่เหมาะสม มีสารอาหารและพลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ไตมีความสามารถในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดูแลเนื้อไตไม่ให้ถูกทำลายมากขึ้นจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายได้ ผู้ป่วยไตวายเมื่อได้รับปลูกถ่ายไตแล้ว มักเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่างตามสบายไม่ต้องควบคุมอาหารอีกต่อไป เพราะคิดว่ามีไตใหม่มาช่วยในการขจัดของเสียในร่างกาย

หลักสำคัญการรับประทานอาหาร

1. ผู้ป่วยต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุด โดยมีวิธีการคำนวณง่ายๆ ดังนี้
ผู้ชาย = ความสูงเป็นเซนติเมตร – 100 x 0.9โดยให้มีเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร
ผู้หญิง = ความสูงเป็นเซนติเมตร – 100 x 0.8 โดยให้มีเส้นรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร
เช่น ผู้หญิง 155 เซนติเมตร น้ำหนักตัวมาตรฐาน ควรเป็น 155-100 X 0.8 = 44 กิโลกรัม

2. กลุ่มอาหารประเภทโปรตีน
อาหารหมวดเนื้อสัตว์ควรได้รับโปรตีนประมาณ 0.8 – 1.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมหรือประมาณวันละ 50-60 กรัมโปรตีน เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประมาณ 1 ½ ขีดต่อวัน (ดูจากตารางประกอบ) หลักสำคัญของการเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่รับประทานควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงจากเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา และไข่ขาว ควรรับประทานทุกวัน เพราะมีไขมันน้อย ย่อยง่ายและดูดซึมได้เร็ว สำหรับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังติดมัน สามารถรับประทานได้ทุกชนิด หมุนเวียนแต่ให้อยู่ปริมาณที่สมดุล

ตารางเปรียบเทียบเนื้อสัตว์ กับปริมาณโปรตีน

ตัวอย่าง : ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับโปรตีน เฉพาะจากเนื้อสัตว์ วันละ 40 กรัมต่อวัน ผู้ป่วยสามารถคำนวณปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์จากตาราง ดังนี้ ไข่ไก่ 1 ฟอง นม 1 แก้ว เนื้อปลา 1 ชิ้น ไก่สับ 10-15 ก้อน คิดเป็น 7+8+11.5+11.5 = 38 กรัม/วัน

โปรตีนที่ควรหลีกเลี่ยง

2.1 เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลมาก ได้แก่ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังไก่ เนื้อหมู เนื้อวัวที่ติดมัน ซี่โครงหมูติดมันมากๆ เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ เป็ดย่าง ไข่ปลา ฯลฯ

2.2 เนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ หรือโปรตีนคุณภาพไม่ดี ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับถ่ายของเสีย ได้แก่ เอ็นสัตว์ต่างๆ เอ็นหมู เอ็นวัว เอ็นไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ กระดูกอ่อน

2.3 ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบถ้วน จัดเป็นโปรตีนคุณภาพไม่ดี เมื่อรับประทานเข้าไป จะมีของเสียออกทางไตมาก ถั่วเมล็ดแห้งยังมีฟอสฟอรัสมาก ผู้ป่วยโรคไตจะขับถ่ายฟอสฟอรัสได้น้อย ทำให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูง ไตเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และยังมีผลรบกวนการดูดซึมของแคลเซียมในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เสียสมดุล แคลเซียมและฟอสฟอรัส จะทำให้โรคกระดูกพรุน ปวดกระดูก กระดูกหักง่าย คันตามผิวหนัง ฯลฯ

2.4 น้ำนม เป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี นม 1 กล่อง (240 มิลลิลิตร) มีโปรตีน 8 กรัม ซึ่งเท่ากับเนื้อสัตว์ ในน้ำนมมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมสูง จึงรับประทานได้แต่ไม่ควรเกิน 240 ซี.ซี.ต่อวัน หากรับประทานนมก็ต้องลดปริมาณเนื้อสัตว์ในวันนั้นด้วย

อ้างอิง

ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.