เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: กินอย่างไรเมื่อต้องล้างไต ตอนที่ 2

เข้าครัวกับโภชนากร

ในกินอย่างไรเมื่อต้องฟกไต ตอนที่ 1 ผู้เขียนกล่าวถึงกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ที่ควรเลือกรับประทาน สำหรับตอนที่ 2 จะกล่าวถึงหมวด

คาร์โบไฮเดรตน้ำยาที่ผู้ป่วยล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดหรือโรคไตเรื้อรังจะมีส่วนผสมของน้ำตาล ซึ่งเป็นสารอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ที่จะให้พลังงานแก่ผู้ป่วยได้เช่นกัน อาหารจำพวกแป้งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. แป้งที่มีโปรตีน ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ขนมจีน บะหมี่ เผือก มัน และอาหารที่ทำจากแป้งต่างๆ ควรได้รับมื้อละ 2-3 ทัพพี อาหารในประเภทข้าวและแป้ง มีคาร์โบไฮเดรต 18 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี สามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้

อาหารจำพวกแป้ง ปริมาณต่อ 1 ส่วน
ข้าวสุก 1 ทัพพี ( ½ ถ้วยตวง)
ขนมปัง 1 แผ่นปกติ
ก๋วยเตี๋ยว ½ ถ้วยตวง
ข้าวโพด ½ ฝักใหญ่
แพนเค้ก 1 ชิ้นเล็ก
แครกเกอร์กลม 6 ชิ้น
แครกเกอร์เหลี่ยม 3 ชิ้น
ข้าวเหนียวนึ่ง ½ ทัพพี ( ¼ ถ้วยตวง)

2. แป้งที่ไม่มีโปรตีนหรือมีโปรตีนต่ำ อาหารจำพวกนี้มีโปรตีนน้อยมาก หรือไม่มีเลย ได้แก่ วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ แป้งมัน แป้งท้าวยายม่อม แป้งถั่ว แป้งข้าวโพด สาคู เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกอิ่มและได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น โดยได้รับโปรตีนน้อยมากหรือไม่ได้รับเลย อาหารจากแป้งที่ไม่มีโปรตีนที่ควรรับประทาน เช่น วุ้นเส้นน้ำ วุ้นเส้นแห้ง ลาบวุ้นเส้น ผัดวุ้นเส้น วุ้นเส้นผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้น้ำ-แห้ง ยำก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ ขนมกุยช่ายจากแป้งมัน วุ้นเส้นผัดซอสปาเกตตี้

3. ไขมัน ผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันในเลือดสูงได้ คือ มีโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันจากพืชในการปรุงอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ มีผู้ป่วยหลายคนนิยมน้ำมันปลาทะเล จะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีกรดไขมันที่จำเป็นสำหรับร่างกายในปริมาณมากพอสมควร กรดไขมันในปลาจะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดการอักเสบของไต และยังพบว่า น้ำมันปลายังลดปริมาณของไข่ขาวในปัสสาวะของผู้ป่วย และมีแนวโน้มที่จะชะลอการเกิดโรคไตวาย เรื้อรังในระยะสุดท้ายลงได้

4. ผัก ผักเป็นอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินเอ กรดโฟลิค เหล็ก ฯลฯ และมีกากใยมาก

  1. ผักที่รับประทานได้ เป็นผักที่มีโพแทสเซี่ยมต่ำถึงปานกลาง ผู้ป่วยเลือกรับประทานได้ ผักดิบหรือผักสุกวันละ 2 ครั้ง ผักดิบมื้อละ 1 ถ้วยตวง หรือผักสุกมื้อละ ½ ถ้วยตวง ได้แก่ แตงกวา แตงร้าน มะระ ฟักเขียว บวบ มะเขือยาว มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ กะหล่ำปลี แห้ว ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม พริกหวาน พริกหยวก ฟักแม้ว
  2. ผักที่มีโพแทสเซียมสูง ( ปริมาณโพแทสเซียม 250-350 มก. )ได้แก่ เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บล็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ แครอท แขนงกะหล่ำ ผักโขม ผักบุ้ง ใบคะน้า ผักกาดขาว ใบผักกวางตุ้ง ยอดฟักแม้ว ใบแค ใบคึ่นช่าย ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง อโวคาโด น้ำแครอท น้ำมะเขือเทศ กระเจี๊ยบ น้ำผัก ผักแว่น ผักหวาน หัวปลี ฯลฯสามารถรับประทานได้แต่ไม่ควรเกิน 1 ทัพพีต่อวัน

5. ผลไม้ อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่เช่นเดียวกับผัก แต่ผลไม้มีน้ำตาลมากกว่าผัก มีโพแทสเซียมในปริมาณที่สูง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรงดผลไม้ทุกชนิด แต่ถ้าผู้ป่วยมีระดับโพแทสเซียมในเลือดไม่สูง อยู่ในช่วง 3.5-5.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ยังคงรับประทานผลไม้ได้ตามปกติแต่ไม่ควรเกิน 3-4 ขีดต่อวันเพราะผลไม้ก็ยังเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาลเมื่อเหลือจากความต้องการของร่างกาย

บรรณานุกรม

ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.