เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: กินอย่างไรเมื่อต้องล้างไต ตอนที่ 1

เข้าครัวกับโภชนากร

การล้างไตคือ การทำหน้าที่แทนไตในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และพยายามที่จะรักษาสมดุลของกรดด่าง เกลือแร่ และน้ำในร่างกายไว้ให้ได้ การล้างไตสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การล้างไตด้วยน้ำยาทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis, CAPD) หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)

ผู้ป่วยไตวายเมื่อได้รับการรักษาโดยการล้างไตแล้ว มักเข้าใจผิดคิดว่าสามารถกินอาหารได้ทุกอย่างตามสบาย ไม่ต้องควบคุมอาหารอีกต่อไป เพราะคิดว่ามีเครื่องมือมาช่วยในการขจัดของเสียในร่างกาย ซึ่งในความเป็นจริงการล้างไตไม่ว่าจะวิธีใดก็ตามไม่สามารถทดแทนการทำงานของไตได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์โดยปกติไตจะทำงานตลอดทั้งวันไม่เคยหยุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 168 ชั่วโมง

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขจัดของเสียออกจากเลือดแทนไตผู้ป่วยทำงานได้เพียง 8-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณเท่ากับ 6-7 เปอร์เซ็นต์ของชั่วโมงการทำงานของไตปกติ เหลือประมาณกว่า 150 ชั่วโมงเป็นช่วงเวลาที่ของเสียยังค้างสะสมในร่างกาย
  2. การล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งทำเองได้ที่บ้านทุกวันมีประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ของไตปกติเท่านั้น

ภายหลังการล้างช่องท้องหรือการฟอกเลือดแล้ว ยังมีของเสียตกค้างอยู่ในร่างกายอีกมากมาย

ผู้ป่วยไตวายที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไตเทียม หรือล้างไตผ่านทางช่องท้อง จะมีการสูญเสียสารอาหารต่างๆ ไปพร้อมกับของเสียที่ถูกกำจัดออกด้วย โดยเฉพาะการสูญเสียโปรตีน และกรดอะมิโนที่จำเป็นกับร่างกาย ดังนั้น จึงต้องดูแลการรับประทานอาหาร น้ำ และเกลือแร่อย่างเหมาะสมด้วย

หลักเกณฑ์ในการรับประทานอาหารโปรตีนสำหรับผู้ป่วยล้างไต

โปรตีน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องการสารอาหารโปรตีนสูงกว่าธรรมดา (คนปกติควรได้โปรตีนวันละ 0.8-1.0 กรัม ต่อน้ำหนักตัวมาตรฐานหนึ่งกิโลกรัม) ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับประมาณ 1.2-1.5 กรัม ต่อน้ำหนักมาตรฐานหนึ่งกิโลกรัม ควรเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประมาณร้อยละ 60

โปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนชนิดที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยควรจะได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ประมาณ 9 – 10 ช้อนกินข้าวต่อวัน ควรเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อหลีกเลี่ยงไขมันที่มาจากสัตว์ ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว และมีโคเลสเตอรอลด้วย เนื้อสัตว์ที่สุกแล้ว ถ้าผู้ป่วยต้องการดื่มนมแทนเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนย ที่มีไขมันต่ำแทน

ในอดีตพยายามให้ผู้ป่วยกินโปรตีนให้มาก เพื่อใช้ทดแทนโปรตีน(อัลบูมิน)ที่ออกมากับปัสสาวะ แต่ก็ไม่มีผลแต่อย่างไร กลับจะทำให้มีการรั่วและทำลายไตมากขึ้นซึ่งในปัจจุบันได้ให้ผู้ป่วยกินโปรตีนตามปกติแต่อย่างไรก็ตามการลดการเพิ่มสารอาหารต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของไตของผู้ป่วยแต่ละรายว่ามีกำลังการทำงานได้มากน้อยเพียงใด


อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  1. เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลมาก ได้แก่ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังไก่ เนื้อหมู เนื้อวัวที่ติดมัน ซี่โครงหมูติดมันมากๆ เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ เป็ดย่าง ไข่ปลา ฯลฯ
  2. เนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ หรือโปรตีนคุณภาพไม่ดี ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับถ่ายของเสีย ได้แก่ เอ็นสัตว์ต่างๆ เอ็นหมู เอ็นวัว เอ็นไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ กระดูกอ่อน
  3. ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบถ้วน จัดเป็นโปรตีนคุณภาพไม่ดี เมื่อรับประทานเข้าไป จะมีของเสียออกทางไตมาก ถั่วเมล็ดแห้งยังมีฟอสฟอรัสมากผู้ป่วยโรคไตจะขับถ่ายฟอสฟอรัสได้น้อย ทำให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูง ไตเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และยังมีผลรบกวนการดูดซึมของแคลเซียมในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เสียสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัส จะทำให้โรคกระดูกพรุน ปวดกระดูก กระดูกหักง่าย คันตามผิวหนัง ฯลฯ
  4. น้ำนม เป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี นม 1 กล่อง ( 240 มิลลิลิตร ) มีโปรตีน 8 กรัม ซึ่งเท่ากับเนื้อสัตว์ ในน้ำนมมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซียมสูง จึงรับประทานได้ แต่ไม่ควรเกิน 240 ซีซีต่อวัน หากรับประทานนมก็ต้องลดปริมาณเนื้อสัตว์ในวันนั้นด้วย

อ้างอิงจาก

ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.