เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล)ตอน: กินป้องกันโรคโรคโลหิตจาง

เข้าครัวกับโภชนากร

โลหิตจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดจำนวนน้อยลงกว่าปกติจะมีอาการซีด เหลือง เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย มึนศีรษะ เบื่ออาหาร ใจสั่น หายใจลำบาก โรคโลหิตจางส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการขาด ธาตุเหล็ก ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง จึงควรต้องรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้น อาหารที่มีธาตุเหล็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

  1. ธาตุเหล็กชนิดที่อยู่ในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ รวมถึงอาหารทะเล โดยอาหารในกลุ่มนี้จะมีธาตุเหล็กสูงและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ มะม่วง สับปะรด จะยิ่งช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีร่วมด้วยทุกวันเพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย
  2. ธาตุเหล็กชนิดที่มีอยู่ในไข่ และพืช เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตำลึง มะเขือพวง รวมถึงถั่วเมล็ดแห้งต่างๆก็มีธาตุเหล็กสูงเช่นกัน แต่ธาตุเหล็กในอาหารกลุ่มนี้ จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่ดีเท่ากับธาตุเหล็กที่มีอยู่ในอาหาร ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารที่มีวิตามินซีจะในการดูดซึมธาตุเหล็กเช่นเดียวกัน

เมื่อรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กแล้ว ก็ไม่ควรละเลยการรับประทานตับ เนื้อไก่ ปลาเนื้อขาว ข้าวซ้อมมือร่วมด้วย เนื่องจากขบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง จากธาตุเหล็ก จำเป็นต้องอาศัยวิตามินบี 12 และกรดโฟลิกที่มีอยู่ในอาหารดังกล่าวด้วย โดยวิตามินบี 12จะมีส่วนสำคัญในการทำงานในกระบวนการย่อยของกรดโฟลิกซึ่งหากร่างกายขาดวิตามินบี12 สารช่วยย่อยของกรดโฟลิกจะผิดปกติ ทำให้เซลขาดกรดโฟลิกที่จะใช้ในกระบวนการเมทาบอลึกซึมต่างๆส่งผลให้กระบวนการที่สำคัญหลายอย่างชะงัก เช่น การสังเคราะห์ดีเอ็นเอ(DNA) ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดโรคซีด มีอาการเพลีย เจ็บลิ้น ปวดหลังและปวดตามประสาทส่วนปลาย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกิดภาวะโลหิตจาง

สำหรับโฟลิกนั้นถ้าขาดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขั้นเริ่มต้นของการสังเคราะห์เม็ดเลือดแดง ซึ่งทำให้เซลไม่สามารถแบ่งตัวได้ เพราะว่าไม่สามารถสร้างDNA ตัวใหม่ได้ขนาดเซลก็จะโตขึ้น เนื่องจากเซลยังคงมีความสามารถที่จะสังเคราะห์โปรตีนให้ได้ปริมาณเพียงพอและสังเคราะห์ส่วนต่างๆของเซล เพื่อที่จะนำไปสร้างเซลใหม่ ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่เซลจะแบ่งตัวกลับไม่มีDNAเพียงพอที่จะนำมาใช้ เซลจึงยังคงมีขนาดใหญ่ แต่ไม่สมบูรณ์และเซลชนิดนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นเซลเม็ดเลือดแดงที่มีขนาดผิดปกติ

การช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีนั้น ผู้ที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ รวมถึงผลไม้และผักที่มีวิตามินซี ขณะเดียวกันต้องเลี่ยงอาหารบางชนิดที่มีผลในการยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น แคลเซียมและคาเฟอีน กล่าวคือไม่ควรรับประทานยาแคลเซียมพร้อมกับอาหารที่มีธาตุเหล็ก ขณะเดียวกันก็ควรงดเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟหลังอาหารโดยทันที.

อ้างอิง

พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ . กินเพื่อสุขภาพ คู่มือเพื่อคนรักสุขภาพ: 2556