เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน : อาหารผู้ป่วยเบาหวานในเดือนรอมฎอน ตอนที่ 1

โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ไม่เพียงพอส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน โรคนี้มีความรุนแรงสืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ในผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ในช่วงเดือนรอมฏอมเป็นเดือนที่ผู้ป่วยเบาหวานชาวมุสลิม ต้องการถือศีลอดซึ่งการถือศีลอดในขณะที่คนเรามีภาวการณ์เจ็บป่วยต่างๆอยู่ด้วยนั้น ความจริงแล้วผู้ที่ป่วยนั้นก็ได้รับการยกเว้นอยู่แล้วไม่ให้ต้องถือศีลอด และให้ไปใช้ในวันอื่นแทน แต่อย่างไรก็ตามพระผู้เป็นเจ้าทรงบอกไว้ว่า การถือบวชนั้นถ้าทำได้ ย่อมเป็นการดีสำหรับตัวเอง

ข้อแนะนำทางโภชนาการช่วงระหว่างการถือศีลอดคือ ผู้ป่วยเบาหวานชาวมุสลิมที่ต้องการถือศีลอดควรได้รับการประเมินและการเตรียมตัวก่อนถือศีลอด 1-2 เดือน เพื่อปรับยาหรืออาหารและการออกกำลังกายเพื่อความปลอดภัย

อาหารช่วงระหว่างถือศีลอดไม่ควรแตกต่างจากอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งจะต้องมองในด้านความสมดุลระยะเวลาการอดอาหารอาจจะยาวนานถึง14 ชั่วโมง จึงควรเลือกอาหารที่ปลดปล่อยพลังงานอย่างช้าๆและมีใยอาหารสูงเช่นอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานควรให้รับประทานอาหารที่เหมาะสม ดื่มน้ำให้มากในช่วงเวลาที่รับประทานอาหารได้ จำกัดอาหารทอดและอาหารมันและจำกัดอาหารหวานในมื้อแรกหลังตะวันตกดิน ปริมาณอาหารไม่จำเป็นว่าจะต้องกินมากเกินไปในแต่ละมื้อ

ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจรับประทาน3มื้อแทน 2มื้อ โดยพยายามกระจายปริมาณคาร์โบไฮเดรตออกไปทั้ง 3 มื้อ ระหว่างการอดอาหารร่างกายคนเรามีกลไกปกติ ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายใช้ไขมันอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดระบบการเผาผลาญพลังงานจะทำงานช้าลงระหว่างการถือศีลอด แม้ปริมาณอาหารที่รับประทานจะน้อยลงกว่าปกติ แต่ถ้าเป็นอาหารสมดุลก็เพียงพอที่จะทำให้มีสุขภาพดีและไม่อ่อนเพลียได้ในระหว่างที่ถือศีลอด

ตัวอย่าง สัดส่วนอาหาร(แบ่งเป็นมื้อ)ที่ให้พลังงานในระดับต่างๆ

หมวดอาหาร 1,200(ส่วน) 1,500(ส่วน) 1,800(ส่วน) 2,000 (ส่วน)
มื้อเช้าก่อนตะวันขึ้น
ข้าวหรือแป้ง 2 2 3 3
เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 2 2 2 3
ไขมันหรือน้ำมัน 3 3 3 3
ผัก 1 1 1 1
ผลไม้ 1 1 1 1
นมพร่องไขมัน 0.5 0.5 - -
มื้อว่างหลังตะวันตกทันที
ข้าวหรือแป้ง 1 1 1 2
ผลไม้ 1 1 1 2
นมพร่องไขมัน - 0.5 0.5 1
ไขมัน - - 1 1
มื้อเย็น
ข้าวหรือแป้ง 2 3 3 3
เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 2 2 3 3
ไขมันหรือน้ำมัน 3 5 4 4
ผัก 2 2 2 2
ผลไม้ 1 1 2 2
นมพร่องไขมัน - - - -
อาหารว่างก่อนนอน
ข้าวหรือแป้ง 1 1 1 2
ผลไม้ 1 1 1 1
นมพร่องไขมัน 0.5 - 0.5 1

อนึ่ง อาหารผู้ป่วยเบาหวานในเดือนรอมฎอนมีทั่งหมด 2 ตอนคะ ตอนหน้าเป็นตอนจบ

บรรณานุกรม

  • ศัลยา คงสมบูรณ์เวช . อาหารบำบัดโรค .