เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล) ตอน: เบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรกินอย่างไร ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

อาหารที่มารดาควรเลือกรับประทาน ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งในด้านการสร้างความเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งจะต้องให้น้ำหนักตัวขึ้นในช่วงที่เหมาะสม ฉะนั้นการเลือกชนิดของอาหารมีความสัมพันธ์กับภาวะข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว

โปรตีน เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ มีส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อให้กับทารกในครรภ์ ช่วยในการเสริมสร้างความเจริญเติบโต ทารกที่ได้รับโปรตีนตลอดการตั้งครรภ์อย่างพอเพียงเมื่อคลอดร่างกายจะแข็งแรง ตัวยาวสมส่วน ในช่วง 3 เดือนแรกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับโปรตีนอย่างพอเพียง เพราะในช่วงไตรมาสนี้ เป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย นอกจากนี้โปรตีนยังมีคุณประโยชน์ต่อตัวมารดา คือช่วยให้มดลูกและเต้านมเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ แหล่งโปรตีนพบมากใน เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ และถั่ว แต่เนื้อปลาจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด เพราะมีปริมาณไขมันและ โคเลสเตอรอลต่ำควรเป็นตัวเลือกสำคัญในการรับประทาน

แคลเซียม ถือเป็นแร่ธาตุ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างกระดูก และฟันของทารกในครรภ์ มารดาตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียม 1,000 -1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าคนปกติ ทั้งนี้เพราะแคลเซียมมีส่วนในการช่วยสร้างเสริมกระดูกและฟันของทารก และป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนสำหรับมารดาด้วย หญิงตั้งครรภ์จึงมีความต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 แหล่งอาหารที่มีแคลเซียมได้แก่ นม และเนยแข็ง ปลากรอบตัวเล็กตัวน้อยที่ทานได้ทั้งกระดูก ถั่ว งา ผักสีเขียวจัด เป็นต้น

โฟเลต ถือเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างสมองไตรมาสแรกโฟเลตมีความจำเป็นมาก เพราะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโต แคลเซียมมีส่วนในการเสริมสร้างเซลล์สมอง รายงานการวิจัยว่ามารดาที่ขาดโฟเลตขณะตั้งครรภ์ โอกาสที่ทารกจะคลอดออกมามีสมองพิการค่อนข้างสูง โพเลตพบมากในอาหารจำพวกเมล็ดถั่ว ธัญพืช ผักและผลไม้

ธาตุเหล็ก เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่ง ที่มีความจำเป็นต่อฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในเม็ดเลือดแดง โดยเป็นตัวพาออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อและทารกในครรภ์ ธาตุเหล็กพบมากใน เนื้อปลา ไข่ทุกชนิด เลือดหมู ตับ ผักใบเขียว เช่น ใบขี้เหล็ก ใบตำลึง ใบชะพลู ผักขม

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • คาเฟอีน พบปริมาณมากในกาแฟ ชา น้ำอัดลม และขนมบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต ซึ่งถ้ามารดาได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงต่อวัน คาเฟอีนจะส่งผลต่อทารก คือทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  • อาหารดิบ ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงอันตรายของอาหารดิบ แต่พบว่าอาหารดิบทุกชนิดนั้นอาจจะทำให้มารดาติดเชื้อจากอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ซึ่งจะยังมีเชื้อโรคอยู่ เช่น หอย กุ้ง ไข่ลวกไม่สุก น้ำดื่มและน้ำแข็งที่ด้อยคุณภาพ อาหารปรุงสำเร็จที่ไม่ได้คุณภาพ
  • อาหารที่มีรสหวานและมีไขมันสูง ควรเลี่ยงเพราะจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลต่อวันมากและมีผลต่อทารก คือ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ทำให้คลอดยาก มีผลต่อระบบหายใจของทารกและมีแนวโน้มที่ทารกที่คลอดออกมาจะเป็นเบาหวานเมื่อโตขึ้นได้ ระดับกลูโคสและอินซูลินในเลือดที่สูงในเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีผลกระทบโดยตรงต่อการตั้งครรภ์ พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดภาวะดื้ออินซูลินและการหลั่งอินซูลินที่บกพร่องทำให้โอกาสเป็นเบาหวานหลังคลอดสูง ฉะนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงหลังจากคลอดบุตรแล้วมารดา เรียนรู้ความเข้าใจการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ก็สามารถลดโอกาสเกิดโรคเบาหวานลงได้.

บรรณานุกรม

- เวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปี2551 โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
- สุภมัย สุนทรพันธ์. การป้องกันการเป็นเบาหวานชนิดที่2แบบปฐมภูมิ.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวม : 2549