เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: เบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรกินอย่างไร ตอนที่ 1

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะ Carbohydrate intolerance ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ การตรวจคัดกรองมารดาตั้งครรภ์ที่มีความเสียงต่อการเป็นเบาหวานจะช่วยให้วินิจฉัยโรคเบาหวานและให้การดูแลรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สามารถป้องกัน และลดอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกลงได้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์หลายประการ ได้แก่ มารดามีโอกาสเกิดการแท้งในกรณีที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี มีการติดเชื้อได้ง่าย มีภาวะความดันเลือดสูงจากการตั้งครรภ์ มีภาวะแฝดน้ำ คลอดยาก อันตรายต่อช่องทางคลอด ตกเลือดหลังคลอด ส่วนทารกในครรภ์อาจพบภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สมองทารกอาจถูกทำลายและเกิดการชัก ทารกตัวใหญ่กว่าปกติ ทารกมีความพิการโดยกำเนิด อัตราการตายของทารกในครรภ์และหลังคลอดสูงกว่าปกติ

อาหาร มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ เพราะเมื่อคุณแม่รับประทานอะไรเข้าไป ทารกก็ย่อมได้รับสารอาหารนั้นไปด้วย คุณแม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และพยายาม เลี่ยงอาหารที่อาจจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วย

อาหารหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานและไม่เป็นเบาหวานไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ผู้ที่เป็นเบาหวานต้องระวังปริมาณอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล เพราะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าสารอาหารตัวอื่นๆ จึงต้องควบคุมปริมาณที่กินเพื่อให้มีระดับน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกับหญิง ตั้งครรภ์ทั่วไป หากควบคุมด้วยอาหารไม่ได้ผลอาจต้องได้รับอินซูลินควบคู่ไปด้วย

เนื่องจากการกินอาหารเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์ เพิ่มขึ้นหรือลดลง จึงต้องดูแลการเพิ่มน้ำหนักด้วย โดยพิจารณาจากน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่ม
น้ำหนักต่ำกว่าปกติ (BMI น้อยกว่า 18 กก./ม.2) 13-16 กิโลกรัม
น้ำหนักตัวปกติ (BMI ระหว่าง 18-22.9 กก./ม.2) 10-14 กิโลกรัม
น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ (BMI มากกว่า 25 กก./ม.2) 6-9 กิโลกรัม

โดยเฉลี่ยใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ควรเพิ่มน้ำหนักเพียง 1- 2.5 กิโลกรัม หลังจากนั้นควรเพิ่มประมาณ 0.25-0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์

การกินอาหารควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ วันละหลายมื้อ แบ่งเป็น 3 มื้อหลัก และมีอาหารว่างระหว่างมื้อพลังงานและปริมาณอาหาร มื้อเช้าให้ น้อยกว่ามื้อเที่ยงและเย็น อาหารว่างควรมีพลังงานน้อยกว่าอาหารมื้อหลัก ควรกินอาหารให้ตรงเวลา ถ้ามีภาวะน้ำตาลต่ำในตอนกลางคืนควรมีอาหารว่างก่อนนอน ถ้ามีภาวะน้ำตาลสูงหลังอาหารเช้า ควรลดปริมาณอาหารในมื้อเช้า พลังงานจากอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1,700-2,000 กิโลแคลอรี/วัน มีปริมาณดังนี้

ประเภทอาหาร *ทั้งวัน *เช้า *ว่างเช้า *เที่ยง *ว่าง *เย็น *ก่อนนอน
ข้าว/แป้ง (ทัพพี) 8 1 ½ - 3 1/2 3 -
ผัก (ทัพพี) 4-5 1 - 1 ½ 2 -
ผลไม้ (ส่วน) 3 - 1 1 - 1 -
เนื้อสัตว์ (ช้อนโต๊ะ) 8 2 - 3 - 3 -
นมจืดพร่องมันเนย ( แก้ว) น้ำเต้าหู้ชนิดจืด 2 1 - - - - 1
ไขมัน/น้ำมัน (ช้อนชา) 4-6 2 - 2 - 2 -

*ปริมาณอาหารต่อมื้อ

อนึ่ง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรกินอย่างไร มีทั้งหมด 2 ตอนคะ ตอนหน้าเป็นตอนจบ

บรรณานุกรม

  1. เวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปี2551 โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
  2. สุภมัย สุนทรพันธ์. การป้องกันการเป็นเบาหวานชนิดที่2แบบปฐมภูมิ.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวม : 2549