เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล) ตอน กินอย่างไรเมื่อเป็นเบาชนิดที่2 ตอนที่ 3 (ตอนจบ)

อาหารกลุ่มที่ 4 กลุ่มเนื้อสัตว์

การ เลือกเนื้อสัตว์ ต้องเลือกรับประทานที่ไม่ติดมันติดหนัง 1 ส่วน มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3 กรัม ให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี ได้แก่ เนื้อหมู, เนื้อวัว ไม่ติดมันและหนังหั่น 8 ชิ้น (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ) เนื้อไก่, เป็ด ไม่ติดมันและหนังหั่น 8 ชิ้น ปลาทู (ขนาด 1 ¼ นิ้ว) 1 ตัว เต้าหู้ขาว ½ หลอด ไข่เฉพาะไข่ขาว 3 ฟอง อาหารกลุ่มนี้ให้โปรตีนเป็นหลัก ผู้ป่วยควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าว และควรเลือกเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมันและหนัง รับประทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยอย่างน้อย 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์

อาหารกลุ่มที่ 5

ไขมัน 1 ส่วนมีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ น้ำมันพืช 1 ช้อนชา, เนย 1 ช้อนชา, กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 6 เมล็ด, ถั่วลิสง 20 เมล็ด น้ำมันทั้งพืชและสัตว์ให้พลังงานเท่ากัน แต่น้ำมันพืชไม่มีโคเลสเตอรอล สำหรับน้ำมันมะพร้าวและกะทิ มีกรดไขมันอิ่มตัวจำนวนมาก ทำให้มีการสร้างโคเลสเตอรอลใร่างกายเพิ่มขึ้น ควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันถั่วลิสง ในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอด แป้งอบที่มีเนยมาก (Bakery products) และอาหารที่มีกะทิ

อาหารกลุ่มที่ 6

น้ำนม 1 ส่วนมีโปรตีน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม จำนวนพลังงานแตกต่างกันตามปริมาณไขมันควรเลือกรับประทาน - น้ำนมพร่องมันเนย 240 มล. ซึ่งมี ไขมัน 5 กรัม พลังงาน 120 กิโลแคลอรี่ - โยเกิร์ตชนิดครีมไม่ปรุงแต่งรส 240 มล. ปริมาณพลังงานขึ้นกับชนิดของนมที่นำมาทำโยเกิร์ต ถ้าใช้ไขมันเต็ม จะให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่ เท่ากับน้ำนมสามารถรับประทานได้บ้างสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง

จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกอาหารมากขึ้น และอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็มิได้แตกต่างจากอาหารคนปกติ แต่จะเป็นลักษณะของอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ รสอ่อนเค็ม ทานของทอดอมน้ำมันแต่น้อย ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับทุกคน มิใช่เฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่รับประทาน การแลกเปลี่ยนและการทดแทนอาหาร เพื่อจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ

บรรณานุกรม

  • เวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปี2551 โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
  • สุภมัย สุนทรพันธ์. การป้องกันการเป็นเบาหวานชนิดที่2แบบปฐมภูมิ.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวม : 2549