เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: กินอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ตอนที่ 2

เพื่อให้การรับประทานอาหารได้หลากหลายชนิด แนะนำให้ผู้ป่วยพบนักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลที่ท่านรักษาเพื่อให้คำแนะนำในการคำนวณพลังงานและสารอาหารที่เหมาะสม เพราะในความเป็นจริงนั้นอาหารแต่ละชนิด จำเป็นต้องคำนวณ เป็นรายบุคคล เหมือนการตัดเสื้อเฉพาะตัว แต่ละบุคคลมีความต้องการพลังงานและสารอาหาร รวมถึงข้อกำหนดที่แตกต่างกันตามพยาธิสภาพของโรค อายุ กิจกรรม ฉะนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงเขียนโดยใช้ลักษณะที่เป็นกลาง โดยเน้นเพื่อดูแลสุขภาพซึ่งท่านอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สารอาหาร ปริมาณ หมายเหตุ
พลังงาน 40 แคลอรี่/ก.ก./วัน น้ำหนักน้อย
30 แคลอรี่/ก.ก./วัน น้ำหนักปกติ
25 แคลอรี่/ก.ก./วัน น้ำหนักมาก
โปรตีน 15 - 20 %ของพลังงาน/วัน
คาร์โบไฮเดรต 50 - 60 %ของพลังงาน/วัน
ไขมัน
- ไขมันอิ่มตัว มากกว่า 10 %
- ไขมันไม่อิ่มตัว 15 – 20 %
โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 200 – 300 มิลลิกรัม/วัน
โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม/วัน
ใยอาหาร 30 – 40 กรัม/วัน

อ้างอิงจาก Manual of clinical Nutrition Dietetic Association,2000


ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการโดยเลือกรับประทานอาหารตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้

อาหารกลุ่มที่ 1

อาหารหมวด ข้าว /แป้ง 1 ส่วนประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม โปรตีน 3 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่เช่น

  • ข้าวสุก ½ ถ้วยตวง
  • ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, เส้นเล็ก ½ ถ้วยตวง
  • ข้าวต้ม ¾ ถ้วยตวง
  • วุ้นเส้นสุก ½ ถ้วยตวง
  • ขนมจีน 1 จับ, บะหมี่ ½ ก้อน
  • ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น
  • มันฝรั่ง 1 หัวกลาง
  • ข้าวโพด 1 ฝัก ( 5 นิ้ว )
  • แครกเกอร์สี่เหลี่ยม 3 แผ่น

ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ได้ เช่นเดียวกับคนปกติ ไม่จำเป็นต้องงด เพราะข้าวเป็นแหล่งของพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆส่วนจะรับประทานได้เท่าไร ขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัว และกิจกรรม เช่น ผู้ป่วยที่อ้วน รับประทานข้าวได้มื้อละ 2 ทัพพีเล็ก ถ้าไม่อ้วนก็รับประทานข้าวได้มื้อละ 3 ทัพพี เมื่อเลือกรับประทานก๋วยเตี๋ยวหรือขนมปังแล้ว ต้องงดหรือลดข้าวในมื้อนั้นลงตามสัดส่วนที่กำหนด อาหารในกลุ่มนี้รับประทานได้มื้อละ 2-3 ส่วน และควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังที่ทำจากแป้งที่ไม่ขัดสี เพื่อจะได้ใยอาหารเพิ่มขึ้น

กลุ่มที่ 2

ผักชนิด ข 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ได้แก่
แครอท, ฟักทอง, ข้าวโพดอ่อน ½ ถ้วยตวง ผักคะน้า, บรอคโคลี ½ ถ้วยตวง ถั่วแขก, ถั่วลันเตา, ถั่วฝักยาว ½ ถ้วยตวง น้ำมะเขือเทศ, น้ำแครอท ½ ถ้วยตวง

กลุ่มที่ 3

ผลไม้ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ ได้แก่
กล้วยน้ำว้า 1 ผล, ฝรั่ง ½ ผลใหญ่, ส้ม 1 ผล (2 ½ นิ้ว) กล้วยหอม ½ ผล, แอปเปิ้ล 1 ผลเล็ก, ชมพู่ 2 ผล มะม่วงอกร่อง ½ ผล, เงาะ 4-5 ผล, ลองกอง 10 ผล มะละกอสุก 8 ชิ้นขนาดคำ, แตงโม 10 ชิ้นขนาดคำ น้ำผลไม้ 1/3 ถ้วยตวง

ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้จะมีใยอาหาร แต่หากรับประทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อ วันละไม่เกิน 3 ส่วน การรับประทานผลไม้ครั้งละมากๆ แม้จะเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน ก็ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้

บรรณานุกรม

  1. เวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปี2551 โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
  2. สุภมัย สุนทรพันธ์. การป้องกันการเป็นเบาหวานชนิดที่2แบบปฐมภูมิ.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวม : 2549