เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน กินอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวานชนิด ที่ 1 (Insulin Dependentb Diabetes) ตอนที่ 2(ตอนจบ)

ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 1 เรื่องการคำนวณ ความต้องการพลังงานและสารอาหารสำหรับผู้ป่วยซึ่งต้องคำนวณแบบเฉพาะราย

ส่วนในบทความนี้ กล่าวถึงหลักสำคัญในการจัดรายการอาหารสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพลังงานและสารอาหาร

หลักสำคัญในการจัดอาหารในเบาหวาน มีดังนี้

  1. อาหารที่รับประทานจำเป็นต้องให้ครบ 5 หมู่หลากหลาย
  2. อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือด ถ้ากินมากหรือน้อยไปก็จะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำได้ สารอาหารคาร์โบไฮเดรต แบ่งได้ 2 กลุ่มได้แก่

    คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำตาลจากผลไม้ น้ำตาลจากนม น้ำผึ้ง ซึ่งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสในร่างกายรวดเร็ว น้ำตาลจัดเป็นพลังงานไร้คุณค่า ใช้ได้ดีในภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเท่านั้น

    คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ข้าว ขนมปังโฮลวีท และธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสในร่างกายได้ช้ากว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เพราะมีใยอาหารมากกว่า ปริมาณที่ควรได้รับประมาณร้อยละ 50 ของพลังงานทั้งหมดหรือ 8- 10 ทัพพี

  3. อาหารในกลุ่มโปรตีน จำเป็นในการเสริมสร้างเจริญเติบโตของเด็ก ร่างกายต้องการประมาณร้อยละ 20 ของพลังงานเด็กควรรับประทานอาหารประเภท ไข่ไก่ 1 ฟอง นมพร่องมันเนยรสจืด 1-2 กล่อง เนื้อปลาทะเล 2-3 ขีดต่อวัน และสลับสับเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์อื่นๆบ้างแต่ควรงดเนื้อสัตว์ที่ติดมันติดหนัง
  4. อาหารในกลุ่มผักผลไม้ เป็นสารอาหารกลุ่มวิตามินซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่นำพาเอาสารอาหารหลักไปสู่เซลล์ ผักควรได้รับวันละ 2-3 ทัพพี และผลไม้ไม่ควรเกิน 3 - 4 ส่วนต่อวัน โดยปกติเด็กมักจะไม่ชอบรับประทานอาหารประเภทผัก ผู้ปกครองต้องรู้จักดัดแปลงเมนูอาหารให้มีส่วนผสมของผัก เนื่องจากในผักจะมีใยอาหารสูงซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารโดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคสได้ช้าลง
  5. การกระจายมื้ออาหาร ควรกำหนดมื้อให้ชัดเจนอาหารหลัก 3 มื้อ อาหารว่าง 2-3 มื้อ ขึ้นกับชนิดยาฉีดอินซูลินและกิจวัตรประจำวัน
  6. การป้องกันการติดเชื้อ แทรกซ้อนเป็นสิ่งที่ควรระวังเนื่องจากเด็กจะมีภูมิต้านทางต่ำ อาหารที่รับประทานควรต้องปรุงให้สุก หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่ไม่แน่ใจในกระบวนการปรุงว่าสะอาดหรือไม่
  7. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ไม่ได้มาตรฐาน
  8. ผู้ที่ใช้ rapid acting insulin โดยการฉีดหรือใช้อินซูลินปั๊ม ควรปรับอินซูลินในมื้ออาหารและอาหารว่างตามปริมาณสารอาหารคาร์โบไฮเดรตในอาหาร
  9. ผู้ที่ฉีดอินซูลิน fixed doseทุกวัน ควรรับประทานสารอาหารคาร์โบไฮเดรตในแต่ละวันโดยกำหนดให้มีปริมาณและเวลาที่รับประทานอาหารควรให้ใกล้เคียงกันทุกวัน
เป้าหมายหลัก

คือให้ผู้ป่วยมีการเจริญเติบโตที่มีน้ำหนักและความสูงใกล้เคียงมาตรฐานเด็กปกติตามวัยให้มากที่สุด

การเลือกปริมาณอาหารและอินซูลินที่เหมาะสมกับผู้เป็นเบาหวานประเภทที่ 1ควรให้นักกำหนดอาหารดูแลกำหนด แต่ผู้ปกครองควรมีข้อมูลผลระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานอาหาร และกิจวัตรประจำวันเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปริมาณอินซูลินที่ต้องการซึ่งก็มีแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลแต่ละมื้อตามสถานการณ์

บรรณานุกรม
  • เวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปี2551 โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
  • สุภมัย สุนทรพันธ์. การป้องกันการเป็นเบาหวานชนิดที่2แบบปฐมภูมิ.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวม:2549