เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน น้ำตาล ความหวานที่มีปัญหา

เทศกาลแห่งความสุขกลับมาเยือนอีกครั้ง พร้อมกับร้านค้าต่างๆ เริ่มนำขนมเค้ก คุกกี้ ช็อกโกแลต ทอฟฟี่ ลูกอม ลูกกวาด น้ำหวาน ออกวางอวดโฉม ล่อตาล่อใจคุณๆ ทั้งหลาย แต่คุณทราบหรือไม่ว่า ในขนมเหล่านี้มีน้ำตาลแฝงอยู่ตั้งกว่าครึ่ง แล้วคุณทราบไหมว่าน้ำตาลมีผลดีผลเสียกับร่างกายของคุณอย่างไร ก่อนที่คุณจะลิ้มรสหวานที่แสนจะอร่อยลิ้นกันอย่างเต็มที่ “ทุกสิ่งมีความพอดีอยู่ในตัวเองหากคุณเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ”

น้ำตาลก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้อย่างไร

โรคอ้วน

เมื่อกินน้ำตาลเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยเพื่อใช้เป็นพลังงาน ถ้าเหลือใช้ร่างกายจะเก็บไว้เป็นเสบียงอยู่ในตับและกล้ามเนื้อ ในสภาพของสารเคมีชนิดหนึ่งเรียกว่า “ไกลโคเจน” ถ้ายังเหลือต่อไปอีกร่างกายจะกลายสภาพน้ำตาลเป็นไขมันเก็บสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ เมื่อใดต้องการพลังงานพิเศษ ร่างกายจะใช้น้ำตาลเสบียงก่อน และเมื่อใดน้ำตาลเสบียงหรือไกลโคเจนมีไม่เพียงพอ จึงจะใช้ไขมัน ด้วยเหตุนี้ ถ้าคุณกินอาหารมากแล้วใช้พลังงานน้อย ไขมันจึงมีโอกาสเพิ่มพูนได้ง่ายขึ้น และไม่ค่อยจะยอมจากคุณไปง่ายๆ เสียด้วย

ไขมันในเลือดสูง (ไตรกลีเซอไรด์)

คนที่นิยมกินน้ำตาล ของหวานอย่างสม่ำเสมอและกินเป็นจำนวนมาก คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าข่ายมีภาวะ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง น้ำตาลที่เรากินเข้าไป ส่วนหนึ่งจะถูกเผาผลาญเป็นพลังงาน อีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้ในเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อร่างกายต้องการพลังงานก็เรียกมาใช้ได้ ดังนั้นเมื่อคุณกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมาก ร่างกายจะนำไขมันไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไม่ทัน จึงเกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ ก่อให้เกิดไขมันในเลือดสูง

ความดันเลือดสูง

ผลพลอยได้จากโรคอ้วนและไขมันในเลือดสูงส่งผลให้คุณมีความดันเลือดสูงตามมาด้วย เพราะหัวใจและหลอดเลือดของคนที่สมบูรณ์เกินไป (อ้วน) ทำงานหนักมากกว่าปกติ และมักมีไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการแข็งตัว นอกจากนี้โรคหัวใจขาดเลือดยังจะถามหาคุณอีกด้วย

โรคหัวใจขาดเลือด

โดยปกติ ผนังด้านในหลอดเลือดแดงที่เลือดไหลผ่านจะมีลักษณะราบเรียบ แต่เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โดยขาดความอ่อนนุ่มและความยืดหยุ่นตัว เนื่องจากมีการคั่งของไขมันที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดี เปรียบเหมือนท่อน้ำที่สนิมจับเกรอะกรังภายใน น้ำย่อมไหลไม่สะดวก ถ้าไขมันนี้ ไปอุดตันที่หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนก่อให้เกิดไขมันในเลือดสูง ไขมันที่เป็นส่วนเกินจะเข้าไปจับจองเนื้อที่ในหลอดเลือดแดงจนเกิดการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก

เบาหวาน

การกินน้ำตาลมากเกินไปมีผลต่อการทำงานของตับอ่อน โดยกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมามากขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง แต่ถ้าตับอ่อนถูกเร่งเครื่องอยู่เรื่อยๆ ก็หมดสมรรถภาพได้ ในไม่ช้าโรคเบาหวานก็จะอยู่คู่กับคุณ เพราะอินซูลินหลั่งไม่ได้ น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง น้ำตาลส่วนที่เกินจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ โรคนี้จะพบมากในคนบางคนที่มีปัญหาทางกรรมพันธุ์และพบมากในคนอ้วน

บรรณานุกรม

  1. สำนักงานโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th[2014,Feb6].