เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน โภชนาการเด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็ก

เด็กในวัยกำลังโตต้องการพลังงานและสารอาหารในปริมาณ เพียงพอ ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี

อาหารสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ

เมื่อลูกก้าวพ้นจากวัยทารกเข้าสู่วัยหัดเดินก็พร้อมแล้วที่จะรับประทานอาหารกับครอบครัว แต่ในช่วงแรกอาจยังต้องฉีกอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆเสียก่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรุงอาหารให้เหมาะสำหรับเด็กรับประทาน โดยจำกัดปริมาณ เกลือ น้ำตาล เครื่องปรุงรสเผ็ดจัดให้น้อยที่สุด

นมยังคงเป็นส่วนสำคัญในอาหารสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ แต่เด็กวัยนี้จะมีความต้องการนมลดลงเหลือวันละประมาณ 350 มิลลิลิตร หากลูกได้รับประทานอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ก็สามารถให้เด็กดื่มนมวัวไขมันเต็มส่วนเป็นเครื่องดื่มหลัก ในแต่ละวันลูกควรรับประทานอาหารแต่ละหมู่ได้หลากหลาย โดยควรให้เด็กได้รับประทาน อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตวันละ 4 ส่วน บริโภคอาหารผลิตภัณฑ์นมวันละ 2-3 ส่วน บริโภค (รวมถึงนม) เนื้อสัตว์หรืออาหารทดแทนเนื้อสัตว์วันละ 1-2 ส่วน บริโภคผักและผลไม้วันละ 5 ส่วน

ความต้องการด้านโภชนาการของเด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็ก

  1. พลังงาน เด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็กจำเป็นต้องใช้พลังงาน ในการทำกิจกรรม รวมถึงนำไปสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาการที่ดี ร่างกายได้รับพลังงานส่วนใหญ่จากไขมันและคาร์โบไฮเดรต และบางส่วนได้รับจากโปรตีน
  2. โปรตีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งสร้างเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการทำงานต่างๆของร่างกาย
  3. ไขมัน มีความจำเป็น และเป็นแหล่งของกรดไขมันที่ร่างกายต้องการ ไขมันในอาหารยังเป็นแหล่งของวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี และอี เด็กจำเป็นต้องได้รับไขมันมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานสำหรับการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามวัย อย่างไรก็ดีสำหรับเด็กตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไปควรรับประทานไขมันไม่เกินร้อยละ 35 ของพลังงานที่ได้จากอาหาร กรดไขมันโอเมกา 3 พบในไขมันปลาสูง ดังนั้นจึงควรรับประทานให้ได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
  4. คาร์โบไฮเดรต ได้จากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล แป้งเป็นส่วนประกอบหลักใน ซีเรียล เมล็ดพืช ธัญพืช และผักหัว ในช่วง 5 ขวบเด็กควรได้รับคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนร้อยละ 40 ของพลังงานที่ได้จากอาหาร เด็กเล็กไม่จำเป็นต้องได้พลังงานจากของหวาน รวมทั้งควรจำกัดการอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและน้ำผึ้ง ใยอาหาร เป็นส่วนประกอบในซีเรียล และผัก ใยอาหารซึ่งจะเปลี่ยนสภาพเป็นกากอาหารในลำไส้เล็กจะช่วยป้องกันท้องผูกและความผิดปกติของลำไส้ ใยอาหารอาจทำให้ลูกอิ่มเร็วและทำให้รับประทานอาหารอื่นได้น้อย ดังนั้นจึงไม่ควรให้รับประทานมากเกินไป
  5. วิตามินและแร่ธาตุ เป็นสารประกอบอินทรีย์เชิงซ้อนซึ่งร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็มีบทบาทสำคัญในหลายกระบวนการของร่างกาย แร่ธาตุเป็นสารประกอบอนินทรีย์อันมีบทบาทหลายอย่าง อาหารแต่ละอย่างมีวิตามินและแร่ธาตุแตกต่างกัน การรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการ

กินอะไร กินเท่าไรในวัยเด็กเล็กของลูก

สัดส่วนพลังงานและสารอาหารโดยเฉลี่ยที่ได้รับ
กลุ่มอาหาร ปริมาณต่อวัน
น้ำนม2-3 แก้ว
ข้าว,แป้ง3-5 ทัพพี
เนื้อสัตว์4 ช้อนกินข้าว
ผัก2-3 ทัพพี
ผลไม้3 ส่วน (8-10ชิ้นต่อ 1 ส่วน)
ไขมัน3-5ช้อนชา
เครื่องปรุงรส เกลือ น้ำตาล ในปริมาณน้อย

ทั้งนี้ การจัดอาหารสะอาด ปลอดภัย และการสร้างนิสัยการกินที่ดีแก่เด็กเป็นอีกสิ่งที่จำเป็น นอกจากนั้น อย่าลืมสร้างความรัก ความผูกพัน โดยหมั่นเล่นกับเด็กและติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กเสมอ

ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับเด็กเล็ก

โจ๊กวัยเตาะแตะ

โจ๊กวัยเตาะแตะ

  • ข้าวกล้องหอมมะลิ 5 กรัม
  • ข้าวหอมมะลิ(ปลายข้าว) 10 กรัม
  • เนื้อไก่เลาะหนังสับ 30 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
  • ฟักทอง หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 2 ช้อนชา
  • เห็ดหอมสดหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 2 ช้อนชา
  • ขิงซอย ตามชอบ
  • ต้นหอมซอย ตามชอบ
  • ซี่โครงไก่ทำน้ำซุป
  • ซีอิ้วใส 1 ช้อนชา
  • วิธีทำ

    • นำข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวหอมมะลิ(ปลายข้าว) ผสมรวมกัน แล้วต้มในน้ำสะอาดจนข้าวสุก
    • เคี่ยวน้ำซุปซี่โครงไก่ ปรุงรส
    • ใส่แครอท ฟักทอง เห็ดหอม คนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน
    • เติมเนื้อไก่สับละเอียด คนให้ทั่ว แล้วต้มจนเนื้อสุก โรยหน้าด้วยขิงซอย ต้นหอม
    สัดส่วนพลังงานและสารอาหารโดยเฉลี่ยที่ได้รับ
    โปรตีน (กรัม) คาร์โบไฮเดรต (กรัม) ไขมัน (กรัม) พลังงาน (กิโลแคลอรี)
    8.5 13 1 95

    บรรณานุกรม

    1. ภาควิชาโภชนศาสตร์และวิทยาศาสตร์อาหาร . มหาวิทยาลัยมหิดล.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน.ความรู้ทางด้านการประเมินและวิธีการวิจัยทางด้านโภชนาการ; พศ.2550.หน้า 13