เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน เมื่อแพทย์บอก...คุณมีไขมันเกาะตับ

ไขมันเกาะตับ (ไขมันพอกตับ)คือไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับมากกว่าปกติจากการตรวจอัลตราซาวนด์ตับ ไขมันในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันที่เรียกว่าไตรกลีเซอไรด์(triglyceride) ไขมันเกาะตับมักจะเกิดร่วมกับภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวาน) สาเหตุเกิดจากการกินอาหารแป้งไขมันน้ำตาล ของหวาน แอลกอฮอล์และไม่ได้ออกกำลังกายจนเกิดอ้วนเกินตามอาหารที่กินเข้าไป และร่างกายนำไปใช้ไม่ทันหรือ ไม่ได้ถูกใช้ ก็จะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ไปสะสมอยู่ที่เนื้อตับ นานๆ เข้าการทำงานของตับก็จะลดลงเพราะเกิดการอักเสบในตับ ยิ่งถ้าดื่มแอลกอฮอล์ และมีไวรัสตับอักเสบบีหรือไวรัสตับอักเสบ ซีร่วมด้วยตับอักเสบก็จะยิ่งมาก ลุกลามกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับต่อไป

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีสาเหตุต่างๆมากมายที่สามารถทำให้เกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับได้สาเหตุที่พบบ่อยคือจากการดื่มสุรา, ยาบางชนิด หรือสารพิษ, ภาวะขาดสารอาหาร, ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease) เป็นต้น

แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงภาวะไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดการจากดื่มสุราซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD)

การศึกษาในปัจจุบันพบว่าภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลินเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับหลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีกที่มากระตุ้นให้เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับซึ่งกลุ่มอาการที่สัมพันธ์ต่อการดื้อต่ออินซูลินนี้เรียกว่า Insulin Resistant Syndrome ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย คือ

  1. อ้วนซึ่งมักจะอ้วนที่ลำตัวมากกว่าแขนขา
  2. เป็นเบาหวาน
  3. มีไขมันในเลือดสูง
  4. มีความดันโลหิตสูง

การรักษาที่สำคัญและได้ประโยชน์มากในผู้ป่วยไขมันคั่งสะสมในตับคือ การลดน้ำหนักในกรณีที่ผู้ป่วยอ้วนซึ่งควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารกล่าวคือหลีกเลี่ยงการทานอาหารทีมีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส (เนยชนิดหนึ่ง)กุ้ง ปูไข่ ไข่แดง

เนื่องจากไตรกลีเซอไรด์เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับ หรือ จำกัด การประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกิน อาทิ

  • ขนมหวานต่างๆ
  • ผลไม้รสหวานจัดซึ่งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้รวดเร็ว และนำไปใช้เป็นพลังงานไม่ทัน เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ ละมุด ขนุน ทุเรียน มะขามหวาน ลิ้นจี่ ลำไย และกลุ่มผลไม้อบแห้งต่างๆ
  • เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล ควรเลือกรับประทานน้ำเปล่าดีที่สุด
  • ปรับอาหารประเภทแป้งขาวหรือข้าวขาว มาเป็นกลุ่มที่ขัดสีน้อยและธัญพืช
  • การปรุงอาหารมักนิยมใส่น้ำตาลและเครื่องปรุงรสที่มีน้ำตาลและไขมัน เช่น น้ำมันหอย ซอสปรุงต่างๆ จึงต้องจำกัดเครื่องปรุงรสเหล่านี้ด้วย
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์เพราะว่าแอลกอฮอล์จะไปลดความสามารถในการเผาผลาญและในการแยกไขมันซึ่งจะเป็นปัญหาทำให้เกิดสภาวะไขมันมากเกินปรกติ

นอกจากนั้น ควรการออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอเพราะจะเป็นการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีและเป็นการช่วยสลายไขมันออกจากตับได้ดีแต่พึงระวังว่าไม่ควรลดน้ำหนักด้วยวิธีการงดอาหารและไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป โดยทั่วไป แนะนำให้ลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัม / เดือนเพราะการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็วโดยการงดอาหารอาจก่อให้เกิดตับอักเสบอย่างรุนแรงได้ การลดน้ำหนักนั้นควรลดลงมาอย่างน้อยร้อยละ 15 จากน้ำหนักเริ่มต้นหรือจนน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานรักษา

ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน -ควรต้องรักษาควบคุมไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติกรณีที่ผู้ป่วยมีไขมันในเลือดสูง-และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น

แหล่งข้อมูล:

  1. ธีระ พิรัชวิสุทธ์ ,สถาบันทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์