เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) : ตอน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าได้รับสารอาหารและพลังงานเพียงพอ?

ในการจะรู้ได้ว่า เราควรได้รับสารอาหารอย่างไร เพียงพอหรือไม่ ก่อนอื่นเราต้องทราบการสมส่วนของร่างกายก่อน(โดยจะต้องทราบน้ำหนักของตนเองว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่) ที่เรียกว่า ค่าดัชนีมวลกายเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณหาพลังงาน หรือแคลอรี ที่เราควรได้รับในแต่ละวันอย่างเหมาะสม

การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ บีเอมไอ(BMI หรือ Body Mass Index) เป็นตัวชี้วัดน้ำหนักที่เหมาะสมของเรา การคำนวณ คือ น้ำหนักตัวปัจจุบันเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร2 จะทำให้เราทราบว่า ขณะนี้น้ำหนักเราอยู่ในเกณฑ์ใด

ค่า BMI ภาวะความอ้วน
18.5 น้ำหนักน้อย
18.5-22.9 น้ำหนักปกติ
>=23.0 น้ำหนักเกิน
23.0 – 24.9 ภาวะเสี่ยงต่อโรคอ้วน
25.0-29.9 โรคอ้วนขั้นที่ 1
>=30.0 โรคอ้วนขั้นที่ 2

(*****อนึ่ง ค่า BMI ของคนเอเชียในการวินิจฉัยว่า น้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นโรคอ้วนในระดับใด ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัด ดังนั้นจึงอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละบทความ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าบทความนั้นๆอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลใด ของประเทศใดในเอเชีย เช่น จีน หรือ สิงคโปร์)

จากนั้นนำน้ำหนักที่ได้มาคำนวณพลังงานที่ควรได้รับจากอาหาร โดยการคำนวณพลังงานจากน้ำหนักตัวและจากระดับกิจกรรม

ระดับค่าที่ได้จากดัชนีมวลกาย BMI ไม่ค่อยมีกิจกรรม(Sedentary) กิจกรรมปานกลาง(Moderate) กิจกรรมเต็มที่(Active)
น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน 20 25 30
น้ำหนักตัวปกติ 25 35 40
น้ำหนักตัวน้อย 30 40 45

ตัวอย่างเช่น น.ส. สมส่วน ส่วนสูง 165 ซม. น้ำหนัก 51 กิโลกรัม ค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำงานบริษัทฯซึ่งไม่ค่อยมีกิจกรรม ฉะนั้น น.ส. สมส่วน มีความต้องการพลังงาน = 51 X 25 = 1,275 กิโลแคลอรี/วัน (Kcal/d)

ทั้งนี้การคำนวณสารอาหารเพื่อการได้รับพลังงานในคนปกติที่ไม่มีโรค มักใช้สูตร 5 (จากคาร์โบไฮเดรต,1 กรัมให้พลังงาน 4 Kcal): 3 (จากไขมัน, 1 กรัมให้พลังงาน 9 Kcal): 2 (จากโปรตีน, 1 กรัมให้พลังงาน 4 Kcal) หมายถึง

  • ควรได้พลังงานจากสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตประมาณ50 % ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน1,275 Kcal/d= 637.5 Kcal/d = หรือประมาณ 159 กรัม/วัน (gm/d)
  • ควรได้พลังงานจากไขมันประมาณ 30 %ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน1,275 Kcal/d= 382.5 Kcal/d หรือประมาณ 42.5 gm/d
  • ควรได้พลังงานจากโปรตีนประมาณ 20%ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน1,275 Kcal/d= 255 Kcal/d หรือประมาณ64 gm/d

ซึ่งเราจะได้ปริมาณสารอาหารที่ให้พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน จากนั้นนำมาคำนวณและเปลี่ยนให้เป็นอาหารแต่ละส่วนที่รับประทาน ซึ่งจะกล่าวในครั้งต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  1. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. - http://nutrietion.anamai.moph.go.th/rda%2004103.htm [2013,Jan 14].
  2. รุจิรา สัมมะสุต . อาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล.กรุงเทพ:พิมพ์ดี ; 2543
  3. อัญชลี ศรีจำเริญ. อาหารและโภชนาการ การป้องกันและบำบัดโรค.กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ; 2553