เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) : ตอน รู้จักกินช่วยชะลอความเสื่อมของไต ตอนที่ 2

อาหารกลุ่มไขมัน/น้ำมัน

อาหารในกลุ่มไขมัน ยังสามารถรับประทานได้ ควรระวังไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไปบ่อยๆ โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ อาทิ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอย มันกุ้ง หนังสัตว์ทอดกรอบ แหนม ไส้กรอก แฮม เบคอน และ เนย มาการีน ควรปรับวิธีการปรุงอาหารเป็น การต้ม นึ่ง ย่างมากกว่าวิธีการทอดหรือผัดที่ใส่น้ำมันมาก เพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ง่ายส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆเสื่อมได้ง่ายขึ้น

อาหารประเภทผัก ผลไม้

ผักเป็นอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้องรังระยะแรกและปานกลางซึ่งระดับโปแตสเซียมในเลือดไม่สูงมาก ยังรับประทานผักทุกชนิดได้โดยไม่ต้องจำกัด

สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายก่อนและระหว่างการฟอกไต ที่มีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงกว่า0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ควรควบคุมปริมาณโปแตสเซียมในอาหาร โดยเลือกรับประทานผักที่มีโปแตสเซียมต่ำได้วันละ 2 ครั้งๆละ 1-2 ทัพพี

ผักที่รับประทานได้เป็นผักที่มีโปแตสเซี่ยมต่ำถึงปานกลาง ผู้ป่วยเลือกรับประทาน ผักดิบหรือผักสุกได้วันละ 2 ครั้ง ผักดิบมื้อละ 1 ถ้วยตวง หรือผักสุกมื้อละ ½ ถ้วยตวง เช่น แตงกวา แตงร้าน มะระ ฟักเขียว บวบ มะเขือยาว มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ กะหล่ำปลี แห้ว ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม พริกหวาน พริกหยวก ฟักแม้ว

ผักที่มีโปแตสเซียมสูงควรหลีกเลี่ยง ( ปริมาณโปแตสเซียม 250-350 มก. ) เช่น เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บลอคโคลี ดอกกะหล่ำ แครอด แขนงกะหล่ำ ผักโขม ผักบุ้ง ใบคะน้า ผักกาดขาว ใบผักกวางตุ้ง ยอดฟักแม้ว ใบแค ใบขึ้นฉ่าย ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง อะโวคาโด น้ำแครอด น้ำมะเขือเทศ กระเจี๊ยบ น้ำผัก ผักแว่น ผักหวาน หัวปลี ฯลฯ

สำหรับผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่เช่นเดียวกับผัก แต่ผลไม้มีน้ำตาลมากกว่าผัก มีโปแตสเซียมในปริมาณที่สูง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.5 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ควรงดผลไม้ทุกชนิด สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นและปานกลาง ไตยังขับถ่ายของเสียได้ดี มีปัสสาวะจำนวนมากและระดับโพแตสเซียมในเลือดไม่สูง อยูในช่วง 3.5-5.0 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ยังคงรับประทานผลไม้ได้ตามปกติซึ่งจะกล่าวถึงใน “ปริมาณโปตัสเซียมในผลไม้”

อาหารที่มีรสเค็มกินได้หรือไม่

อาหารประเภทนี้ทำให้กระหายน้ำ ดื่มน้ำมากขึ้น ผู้ป่วยไตเรื้อรังไตไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ ทำให้มีโซเดียมคั่งเกิดอาการบวมน้ำ อาจทำให้น้ำท่วมปอดและความดันโลหิตสูงขึ้น อาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ อาหารที่ควรระวัง เช่น การใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดูซุปก้อน ผงปรุงรสต่างๆ คนที่มีปัญหาเรื่องไต ต้องระวังไม่ใส่เครื่องปรุงรสต่างๆมากในขณะประกอบอาหาร โดยทั่วไปเติมเกลือได้ไม่ควรเกินครึ่งช้อนชาต่อวันหรือเติมน้ำปลาซีอิ้วรวมกันได้ไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวันรวมทั้งหลีกเลี่ยง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่างๆ

อาหารทีมีโซเดียมมาก

เกลือ เป็นอาหารที่มีโซเดียมถึง 40 % มีรสเค็มจัด เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

ชนิดอาหารที่มี โซเดียมสูง เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ซอสถั่วเหลือง ซอสแมกกี้ ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว ซุปก้อน ซุปผง ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ ซอสเปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ ปลาเค็ม หมูเค็ม กุ้งแห้ง หมูแดดเดียว เนยแข็ง เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว หอยดอง ไส้กรอกอีสาน หมูหยอง หมูแผ่น หมูยอ ปลาปรุงรส ผงชูรส โซดาอบขนม ผงฟู โจ๊กซอง ข้าวเกรียบ ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ เนยเทียม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ

อนึ่งการกำหนดปริมาณสารอาหารและพลังงาน เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของแพทย์ และนักกำหนดอาหาร แต่ในทางปฏิบัตินั้นหากผู้ป่วยและญาติมีความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นต่างๆ ของระดับความรุนแรงของโรค เกิดการมีส่วนรวมในการดูแลรักษา จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยและญาติควรทราบคือ การทำงานของไตว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งการทำงานของไตคือการแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังอันจะนำไปสู่การเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับพยาธิสภาพของโรคขณะนั้นได้

ตัวอย่างรายการอาหารหนึ่งวัน จำกัดโปรตีน 40 กรัม/วัน
มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น
รายการ ปริมาณ รายการ ปริมาณ รายการ ปริมาณ
- ข้าวสวย 2 ทัพพี - ข้าวสวย 2 ทัพพี - ข้าวสวย 2 ทัพพี
- เกาเหลาหมูสับ ตำลึงตามชอบ 2 ช้อนโต๊ะ - ผัดเผ็ดเนื้อไก่ ใส่ผักตามชอบ 2 ช้อนโต๊ะ - แกงส้มปลากะพง ใส่ดอกแคหรือผักตามชอบ 2 ช้อนโต๊ะ
- มะละกอสุก 8–10 คำ - ยำไข่ขาวต้มซอยบางๆ วุ้นเส้นมะเขือเทศ หอมใหญ่ ขึ้นฉ่าย ตามชอบ *วุ้นเส้นเป็นแป้งปลอดโปรตีนสามารถรับประทานได้มาก 1 ฟอง - ผัดผักรวมมิตรไม่ใส่เนื้อสัตว์ 1 จาน
- เนื้อไก่ต้มพะโล้ 1 ช้อนโต๊ะ
- ขนมสาคูเปียกไม่ราดกะทิ 1 ถ้วย - ขนมน้ำดอกไม้ 5 ชิ้น
ซีอิ๊วใส 1ช้อนชา ซีอิ๊วใส 1ช้อนชา ซีอิ๊วใส 1ช้อนชา
ข้อสังเกต : การปรุงอาหารโรคไตที่จำกัดโซเดียมต้องดัดแปลงสูตรอาหาร เช่น น้ำพริกแกงต้องงดกะปิ ขนมหวานที่มีกะทิต้องงด ใส่เฉพาะน้ำเชื่อม ถ้าเป็นเบาหวานใช้น้ำตาลเทียมแทน : ไข่ขาวเป็นโปรตีนชั้นดีจึงควรรับประทานแทนเนื้อสัตว์อย่างน้อยวันละ 1-2 ฟอง และต้องหักจากปริมาณเนื้อสัตว์อื่นๆ ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.