เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) : ตอน อาหารรักษ์...หัวใจ

พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตของคนไทย นิยมบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่นพิซซา ไก่ทอด เฟรนฟราย แฮมเบอร์เกอร์ อาหารเหล่านี้มีไขมันในปริมาณที่สูงโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิดทรานส์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเส้น/หลอดเลือดหัวใจตีบตันผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคเส้น/หลอดเลือดหัวใจตีบตันควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารอย่าง เหมาะสมเพื่อมิให้โรคหัวใจลุกลามเป็นมากขึ้นดังนี้

  1. จำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอันตรายและโคเลสเตอรอล ไขมันทรานส์นี้เป็นตัวก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันทรานส์ใช้ในการผลิต ขนมเบเกอรี่ เช่น พาย เค้ก คุกกี้ ขนมปัง ฯลฯ นั่นคือมาการีนและเนยขาว และยังมีในครีมเทียม และอาหารทอดที่ใช้ความร้อนสูงๆ เช่น ไก่ทอด หรือ แฮมเบอเกอร์ ดังนั้นจึงควรงดบริโภคอาหารประเภท เนยมาการีน
  2. ควรเลือกบริโภคอาหารโปรตีนประเภทที่มีไขมันต่ำ
    • รับประทานนมพร่องมันเนยหรือนมสูตรไขมันต่ำ (low fat) ชนิดจืด
    • การรับประทานเนื้อสัตว์ควรเลือกรับประทานในส่วนที่ไม่ติดมันอาทิ เนื้อปลามีไขมันชนิดโอเมก้า-3 ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดป้องกันภาวะหัวใจวายได้ด้วย
    • ปรับกรรมวิธีการปรุงอาหารจากแกงกะทิ ทอดน้ำมันมาก มาเป็นอาหารประเภทแกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ผัดผักน้ำมันน้อยๆ
  3. รับประทานผักให้มากและรับประทานผลไม้เป็นประจำ

    ร่างกายต้องการวิตามินและแร่ธาตุจากการรับประทานผัก ผลไม้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และเป็นตัวนำสารอาหารที่ สำคัญไปในทุกระบบของร่างกาย การรับประทานผักในปริมาณที่พอดี (5 ทัพพี/วัน) จะทำให้ร่างกายได้รับ ใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย นำโคเลสเตอรอลและสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งบางชนิดออกจากร่างกายทำให้ลดการสะสมของสารพิษเหล่านั้น เพื่อการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง จึงควรรับประทานพืชผักทุกมื้อให้หลากหลายชนิดสลับกันไป ผลไม้ ควรรับประทานเป็นผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น แอปเปิล ส้มเขียวหวาน สับปะรด แคนตาลูป แตงโม ฝรั่ง ฯลฯ

    การรับประทานอาหารเพื่อรักษาสุขภาพของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ตั้งใจจริง รับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนตามหลักโภชนาการ และปรับให้เหมาะสมสำหรับสุขภาพของคุณ เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถรักษาสภาวะของร่างกายที่ดีได้ตลอดไป

ปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหาร 100 กรัม
อาหาร ปริมาณ ปริมาณโคเลสเตอรอล อาหาร ปริมาณ ปริมาณโคเลสเตอรอล
ขนมปังขาว 6 แผ่น 1 น้ำสลัดข้น 7 ชต. 69
ไข่ไก่ เฉพาะไข่แดงดิบ 6 ฟองใหญ่ 1602 เนย (butter) 7 ชต. 219
ไข่ไก่ดิบ 2 ฟองใหญ่ 548 แพนเค็ก ธรรมดา 10 ซม. 3 ชิ้น 59
ไข่นกกระทา ดิบ 11 ฟองใหญ่ 844 มายองเนส 6.5 ชต. 26
ไข่ปลา ดิบ 10 ชช. 374 โยเกิร์ต ธรรมดา 6.5 ชต. 13
ไข่เป็ด ดิบ 2 ฟองกลาง 884 โยเกิร์ต พร่องไขมัน 6.5 ชต. 2
คุกกี้ ธรรมดา ชิ้นละ 7 กรัม 14 ชิ้น 117 กระเพาะหมู สุก 8 ชต. 276
เค็กเนย 1 ชิ้น1 ปอนด์ ตัด 5 ชิ้น 221 กึ๋นไก่ 8 ชต. 171
นมพร่องไขมัน 100 มล. 2 นมวัวสด ไขมัน 3.3% 100 มล. 14
โดนัทช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาล 1ชิ้น 57 ตับไก่ สุก 10 ชต. 631
นมช็อกโกแลต 100 มล. 12 ตับเป็ด สุก 10 ชต. 740
นมข้นหวาน 80 มล. 34 ตับวัว สุก 10 ชต. 389
นมเปรี้ยวรสผลไม้ 100 มล. 6 ตับหมู สุก 10 ชต. 355
นมผง 13 ชต. 97 ตับอ่อนหมู สุก 10 ชต. 315
นมผงพร่องไขมัน 13 ชต. 20 ไส้หมู สุก 10 ชต. 143
เนื้อไก่ล้วน สุก 10 ชต. 89 กุ้งรวมชนิด สุก 7 ชต. 195
เนื้อซี่โครงหมู สุก 10 ชต. 121 ทูน่าในน้ำมัน 10 ชต. 31
เนื้อเป็ดล้วน สุก 10 ชต. 89 เนื้อปู สุก 8 ชต. 100
เนื้อวัวล้วน สุก 10 ชต. 86 ปลากระบอก สุก 8 ชต. 60
เนื้อหมูล้วน สุก 10 ชต. 93 ปลากระพงขาว สุก 8 ชต. 50
มันหมู สุก 10 ชต. 91 ปลากระพงแดง สุก 8 ชต. 45
หนังไก่ ทอด 2.5 ชต. 74 ปลาเก๋า สุก 8 ชต. 47
ปลาหมึกกระดองหลากชนิด สุก 10 ชต. 224 ปลาช่อน สุก 8 ชต. 47
ปลาหมึกกล้วยหลากชนิด สุก 10 ชต. 260 ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ 8 ชต. 61
ปลาหมอ สุก 8 ชต. 110 ปลาแซลมอน สุก 8 ชต. 70
ปลาอินทรีย์ สุก 10 ชต. 93 ปลาดุก สุก 8 ชต. 58
ปลาโอ สุก 10 ชต. 46 ปลาตะเพียน สุก 8 ชต. 84
หอยแครง สุก 15 ตัวขนาดกลาง 67 ปลาทู สุก 8 ชต. 57
น้ำพริกเผา 20 ช้อนชา 1 ปลาลิ้นหมา สุก 8 ชต. 68
เบคอน สุก 10 ชต. 85 ปลาเล็กปลาน้อย สุก 8 ชต. 73
ลูกชิ้นเนื้อ 15 ลูก 18 ลูกชิ้นหมู 15 ลูก 14
ลูกชิ้นปลา 15 ลูก 10 ไส้กรอกไก่ 20 ชิ้น 4 x 1.5 ซม. 101

อ้างอิงจากโคเลสเตอรอลและกรดไขมัน กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งข้อมูล:

  1. สวรรยา เดชอุดม. AN OVERVIEW OF CARDIOVASCULAR DISEASE.การประชุมวิชาการเรื่อง Functional Food for Health :Past, Present and Future ; วันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2552 ; อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ.