เกาต์ (Gout)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบ (การอักเสบ) ที่พบบ่อยโรคหนึ่ง โดยเป็นการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ เป็นโรคของผู้ใหญ่วัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า โดยทั่วไปมักเกิดกับข้อเพียงข้อเดียว (แต่บางครั้งอาจเกิดกับหลายข้อได้พร้อมๆกัน) โดยเกิดกับข้อไหนก็ได้ ที่พบบ่อย คือ ข้อเล็กๆ เช่น ข้อกระดูกฝ่าเท้า และข้อกระดูกฝ่ามือ แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ เกิดกับข้อกระดูกฝ่าเท้าด้านหัวแม่โป้ง

โรคเกาต์เกิดได้อย่างไร?

เกาต์

โรคเกาต์มีสาเหตุเกิดจากมี กรดยูริค ในเลือดสูง จนส่งผลให้เกิดการตกผลึกของกรดยูริคในข้อต่างๆ จึงเป็นผลให้ข้ออักเสบ เกิดอาการ บวม แดง ร้อน ปวด และเจ็บ เมื่อสัมผัสถูก ต้อง

โรคเกาต์มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์ที่พบบ่อย ได้แก่

  • เพศ เพราะพบโรคในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง
  • กินอาหารมีสารพิวรีนสูงต่อเนื่องเป็นประจำ(แนะนำอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ ‘การดูแลตนเองฯ’)
  • กินอาหารที่หมักด้วยยีสต์ (Yeast: เชื้อราบางชนิดที่ใช้ในการหมักอาหารและ เครื่องดื่ม) เพราะเป็นสาเหตุให้มีกรดยูริคในเลือดสูง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะแอลกอฮอลล์ลดการขับกรดยูริค ออกทางไต/ทางปัสสาวะ กรดยูริคจึงคั่งในเลือดสูงกว่าปกติ
  • เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคเหล่านี้มีความผิดปกติในการสันดาปสารต่างๆ จึงมักส่งผลให้มีกรดยูริคในเลือดสูง
  • เป็นโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เพราะส่งผลให้มีกรดยูริคในเลือดสูง เช่น โรคต่อมไท รอยด์ทำงานต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ส่งผลให้ไตขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะน้อยลง เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ
  • โรคไต เพราะไตทำงานต่ำลง จึงขับกรดยูริคออกน้อยลง
  • คนอ้วน โดยอาจสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน(Insulin resistance)
  • อาจเกิดจากพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในครอบครัวคนเป็นโรคนี้
  • บริโภคอาหาร/ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลFructoseสูง เช่น เครื่องดื่มกลุ่มโคลาชนิดดั่งเดิม เพราะจะทำให้มีกรดยูริคในเลือดสูงขึ้น
  • มีการผ่าตัดกระเพาะอาหารในการรักษาโรคอ้วน(Gastric bypass surgery
  • แต่มีการศึกษารายงานว่า การกินวิตามินซี น้อยกว่า1,500มิลลิกรม/วัน, ดื่มกาแฟน้อยกว่า6แก้ว/วัน, การดื่มนมและผลิตภัณฑ์ของนม ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดเกาต์

โรคเกาต์มีอาการอย่างไร?แบ่งอาการเป็นกี่ระยะ?

โรคเกาต์มักเกิดอาการกับข้อเพียงข้อเดียว (แต่สามารถเกิดได้กับหลายๆข้อ) อาการจะค่อยดีขึ้นภายหลังการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่เมื่อควบคุมโรคได้ไม่ดี โรคจะย้อนกลับมาอีก และเป็นๆหายๆ กลายเป็นการอักเสบเรื้อรังของข้อ

โดยอาการพบบ่อยของโรคเกาต์ ได้แก่

  • ข้อที่เกิดโรค อักเสบ บวม แดง ร้อน ปวดมาก และเจ็บมากเมื่อสัมผัสถูกต้อง
  • ข้อที่เป็นโรคเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้เพราะเจ็บ ซึ่งการอักเสบมักเกิดอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งวัน (การอักเสบเฉียบพลัน)
  • ช่วงมีข้อบวมอาจมีไข้ได้
  • อ่อนเพลีย
  • เมื่อกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ผลึกของกรดยูริคอาจเข้าไปจับรอบๆข้อ และ/หรือ ตามเนื้อเยื่อต่างๆที่ไม่ใช่ข้อ เกิดเป็นก้อน/เป็นปุ่ม เช่น ที่ใต้ผิวหนัง และที่ใบหู เรียก ว่า ‘ปุ่มโรคเกาต์ (Tophus หรือ Tophi)’

ระยะต่างๆของอาการโรคเกาต์

ลักษณะอาการโรคเกาต์แบ่งเป็นระยะต่างๆได้ดังนี้

ก. ระยะไม่มีอาการ(Asymptomatic hyperuricemia): ระยะนี้เป็นระยะเริ่มแรกที่มีกรดยูริคในเลือดสูง และเริ่มมีผลึกกรดยูริคในน้ำหล่อเลี้ยงข้อ

ข. ระยะเกาต์เฉียบพลัน หรือ ข้ออักเสบเฉียบพลัน(Acute gout หรือ Gout attack หรือ Acute gout arthritis): เกิดอาการข้ออักเสบอย่างเฉียบพลันภายใน1วัน คือ ข้อปวดมาก บวม แดง ร้อน อาการมักเกิดช่วงกลางคืน มีอาการอยู่ประมาณ2-3วัน มักหายได้เองในประมาณ10วัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงครั้งเดียว แต่ทั่วไป ประมาณ60%ของผู้ป่วยจะกลับมามีอาการอีกภายใน1 ปี และประมาณ 80-85%จะกลับมามีอาการซ้ำอีกใน 3ปี

ค.เกาต์ระยะสงบ(Interval gout หรือ Intercritical gout): เป็นระยะที่ยังมีกรดยูริคในเลือดสูง และมีผลึกกรดยูริคในข้อ แต่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หรือถ้ามีอาการ อาการจะน้อยมาก แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา/การดูแลตนเอง โรคจะเปลี่ยนเข้าสู่ระยะอันตราย คือ ระยะเรื้อรัง

ง. ระยะเกาต์เรื้อรัง(Chronic gout หรือ Chronic tophaceous gout): เป็นระยะที่จะมีข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดซ้ำๆบ่อยมาก อาการปวดข้อมักไม่ดีขึ้นจะคงที่ตลอดเวลา กรดยูริคในเลือดสูงตลอดเวลา มีผลึกกรดยูริคในข้อจนกระดูกข้อถูกทำลาย/เสียหายที่ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของข้อ และจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ(ดังกล่าวในหัวข้อ’ผลข้างเคียงฯ’ตามมาเมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม โรคระยะนี้เป็นระยะที่ป้องกันไม่ให้เกิดได้ ด้วยการดูแลตนเองตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ ตั้งแต่เริ่มมีกรดยูริคในเลือดสูงหรือเมื่อเกิดโรคระยะเฉียบพลัน

แพทย์วินิจฉัยโรคเกาต์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเกาต์ได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการกินอาหาร กินยาบางชนิด(เช่น ยาขับปัสสาวะ) และการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น โรคไต, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ประวัติการเป็นโรคเกาต์ในครอบครัว การตรวจร่างกาย ตรวจเลือดดูค่ากรดยูริค อาจตรวจภาพข้อที่เกิดโรคด้วยเอกซเรย์ แต่ที่แน่นอน คือ ดูดน้ำจากข้อที่บวมตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ดูผลึกของกรดยูริค

อนึ่ง สมาคมโรคข้อรูมาตอยด์แห่งสหรัฐอเมริกา(American College of Rheumatology) ได้กำหนดข้อบ่งชี้ทางคลินิก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และผลเอกซเรย์เพื่อใช้วินิจฉัยโรคเกาต์ โดยกำหนดว่า

  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการหรือผลตรวจดังต่อไปนี้ ‘ตั้งแต่6ข้อขึ้นไป’ ให้วินิจฉัยได้ว่า ‘เป็นโรคเกาต์’ ซึ่งได้แก่

    1. มีข้อบวมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง(ซ้าย หรือขวา) ด้านเดียวของร่างกาย

    2. อาการโรคเกิดกับข้อเพียงข้อเดียว

    3. ขณะข้ออักเสบ บวม แดง ร้อน การตรวจน้ำในข้อไม่พบเชื้อแบคทีเรีย

    4. อาการบวม แดง ร้อน จะเกิดอาการรุนแรงทันทีภายใน1วัน

    5. ตรวจเลือดพบมีกรดยูริค สูง

    6. ข้อ บวม แดง

    7. มีประวัติเกิด การ บวม แดง ของข้อ หลายครั้ง ซ้ำๆ เป็นระยะๆ

    8. มีการ บวม แดง/อักเสบของข้อนิ้วโป้งเท้าข้างใดข้างหนึ่ง

    9. เอกซเรย์ภาพข้อที่เกิดอักเสบพบถุงน้ำที่ใต้ผิวข้อโดยไม่มีการทำลายของกระดูก

    10. ตรวจร่างกาย และ/หรือเอกซเรย์ ข้อ/ตำแหน่งที่เกิดอาการ พบปุ่มโรคเกาต์(Tophi)

    11. ถ้ามีการอักเสบหลายข้อ จะเกิดการอักเสบเฉพาะด้านเดียวของร่างกาย(ซ้าย หรือขวา) และต้องมีการอักเสบของข้อนิ้วโป้งเท้าร่วมด้วย

    12. มีการอักเสบเฉพาะของข้อกระดูกเท้าเพียงด้านใดด้านหนึ่ง

รักษาโรคเกาต์ได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเกาต์ ได้แก่

  • ให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ เช่นยาในกลุ่ม NSAIDs
  • ให้ยาลดกรดยูริคในเลือด เช่นยา Allopurinol
  • ทั้งนี้การให้ยาต่างๆซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ’ยาโรคเกาต์’)
  • การจำกัดอาหารมีกรดยูริค (สารพิวรีน) สูง และ
  • ให้ยาอื่นๆตามอาการ เช่น ยาลดไข้เมื่อมีไข้ร่วมด้วย เป็นต้น

โรคเกาต์มีผลข้างเคียงไหม?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในโรคเกาต์ คือ

  • กลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรังเมื่อไม่พบแพทย์ต่อเนื่อง หรือ
  • การเกิดปุ่มผลึกกรดยูริคในเนื้อเยื่อต่างๆ ส่งผลให้เสียภาพลักษณ์ หรือ
  • เป็นโรคนิ่วในไตจากการสะสมของผลึกกรดยูริคในไต ซึ่งอาจถึงขั้นเป็นสาเหตุไตวายได้

โรคเกาต์รักษาหายไหม?

โรคเกาต์เป็นโรครักษาและควบคุมได้ ไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) เมื่อกินยา และปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ แต่ถ้าปล่อยเรื้อรังจนเกิดไตวาย อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากไตวาย

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเกาต์?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเกาต์ ที่สำคัญ คือ

  • กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ควรขาดยา
  • หลีกเลี่ยงและจำกัดอาหารที่มีกรดยูริค (สารพิวรีน) สูง
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อเพิ่มการขับกรดยูริคออกทางไต และเพื่อลดโอกาสเกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วในไต
  • ป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวโดยควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ป้องกัน ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
  • หลีกเลี่ยงและจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เมื่อมีอาการปวดข้อมาก อาจประคบข้อๆนั้นด้วยน้ำแข็ง/การประคบเย็น และหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักของข้อนั้นๆ
  • หลีกเลี่ยงซื้อยาต่างๆกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์/เภสัชกร

อนึ่ง:

ก: อาหารมีสารพิวรีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ปลาทะเล หอย แครง น้ำเกรวี (Gravy) และจากพืชบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม ยอดผัก และถั่วชนิดมีรูป ร่างคล้ายไต (ถั่วดำ ถั่วแดง)

ข. ส่วนอาหารมีสารพิวรีนต่ำ เช่น ธัญพืชชนิดเต็มเมล็ด นม (ควรเป็นนมพร่องไขมัน เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูง) ไข่ และปลาน้ำจืด

ป้องกันโรคเกาต์ได้ไหม?

การป้องกันโรคเกาต์ คือ การดูแลตนเองเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเกาต์’

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์? ควรพบแพทย์ก่อนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการผิดปกติของข้อ ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อวินิจฉัยแยกโรค ว่ามีสาเหตุจากโรคอะไร