เกาต์กำเริบ (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

เกาต์กำเริบ

แม้ว่ายาจะเป็นวิธีรักษาโรคเกาต์ที่ได้ผลดีที่สุด แต่การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตก็มีส่วนช่วยด้วย เช่น

  • การจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มหวานที่มีฟรุคโตส ด้วยการดื่มน้ำเปล่า
  • การจำกัดการกินอาหารที่มีสารพิวรีน เช่น เนื้อแดง อวัยวะสัตว์ และอาหารทะเล
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอและลดน้ำหนัก เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง

ทั้งนี้ อาหารที่ช่วยลดระดับกรดยูริค ได้แก่

  • กาแฟ – มีงานวิจัยที่พบว่าการดื่มกาแฟปกติและกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน (Decaffeinated coffee) มีความสัมพันธ์กับระดับกรดยูริคที่ลดลง อย่างไรก็ดี งานวิจัยไม่ได้บอกถึงเหตุผลว่าทำไมจึงมีผลเช่นนั้น

    นอกจากนี้หลักฐานที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟหันมาเริ่มดื่มเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นเกาต์

  • วิตามินซี – อาหารเสริมวิตามินซีอาจช่วยลดระดับกรดยูริคในเลือด อย่างไรก็ดี ยังไม่มีบทวิจัยที่พบว่า วิตามินซีมีผลต่อความถี่หรือความรุนแรงของอาการเกาต์กำเริบ และควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณของวิตามินซีที่ควรกิน ทั้งยังไม่ควรลืมว่าเราสามารถหาวิตามินซีได้จากกินผักและผลไม้ เช่น ส้ม
  • เชอรี่ – งานวิจัยระบุว่า เชอรี่มีความสัมพันธ์กับระดับกรดยูริคที่ต่ำลงและอาการเกาต์กำเริบ โดยการกินเชอรี่และดื่มน้ำเชอรี่สกัดอาจช่วยรักษาเกาต์ได้ อย่างไรก็ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่อนคลายอื่นๆ เช่น การฝึกหายใจลึกและการทำสมาธิ ที่อาจช่วยลดอาการปวดลงได้เช่นกัน

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำระหว่างที่ไม่มีอาการ เพื่อป้องกันการเกิดเกาต์อีก

  • การดื่มน้ำให้มาก ลดเครื่องดื่มที่มีรสหวานโดยเฉพาะพวกน้ำเชื่อมข้าวโพดแบบฟรุคโตสสูง (High fructose corn syrup)
  • จำกัดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์
  • กินโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ (Low-fat dairy products) โยเกิรต์ไขมันต่ำ
  • กินผักและผลไม้ที่ช่วยลดกรดยูริก เช่น เชอรี่หรือผลไม้สีม่วงแดง ขึ้นฉ่าย (celery) เป็นต้น
  • จำกัดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และสัตว์ปีก (Poultry)
  • รักษาน้ำหนักตัว เพราะการลดน้ำหนักตัวอาจช่วยลดระดับกรดยูริคในร่างกาย แต่ต้องหลีกเลี่ยงการอดอาหาร (Fasting) หรืการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว (Rapid weight loss) เพราะอาจทำให้กรดยูริคสูงขึ้นชั่วคราว

แหล่งข้อมูล

1. Gout. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gout/basics/definition/con-20019400 [2016, April 27].

2. Gout. http://www.webmd.com/arthritis/tc/gout-topic-overview [2016, April 27].