เกาต์กำเริบ (ตอนที่ 2)

เกาต์กำเริบ

สำหรับการรักษา ผศ.พญ.อัจฉรา กล่าวว่า ยาที่ใช้รักษามี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

ยาควบคุมอาการข้ออักเสบ เพื่อป้องกันการกำเริบของข้ออักเสบ ได้แก่ ยาโคลชิซีน และ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งควรให้ในระยะสั้นจนข้ออักเสบหายดี

โดยแพทย์จะพิจารณาให้ในขนาดที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากอาจมีข้อห้ามในผู้ป่วยบางราย ยาในกลุ่มนี้โดยเฉพาะยาโคลชิซีน สามารถให้ในขนาดต่ำเพื่อลดและควบคุมการกำเริบของข้ออักเสบในระยะยาวจนกว่าจะควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ และ

ยาควบคุมระดับกรดยูริก ประกอบด้วย ยาลดการสร้างกรดยูริกที่สำคัญ ได้แก่ ยาอัลโลพิวรินอล และยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต ได้แก่ ยาโปรเบ็นนาซิด ยาเบนโบรมาโรน และ ยาซัลฟินไพราโซน

โดยแพทย์จะเริ่มให้ยากลุ่มนี้เมื่อข้ออักเสบหายดี และปรับขนาดยาจนคลุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ในระดับ 5-6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และให้ยาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ การใช้ยาจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และเลือกใช้เฉพาะรายโดยแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากมีผลข้างเคียงและอาจมีผลกระทบต่อระดับยาบางชนิดได้

ส่วนข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยนั้น ผศ.พญ.อัจฉรา ได้แนะนำไว้ดังนี้

  1. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา
  2. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ การหยุดยาเอง/รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การดื่มเหล้าเบียร์ อาหารที่มีกรดยูริกสูงบางชนิดที่กระตุ้นการกำเริบของโรค การนวด/บีบข้อ เป็นต้น
  3. รักษาโรคร่วมและดูแลสุขภาพ ที่สำคัญได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ นิ่วไต โรคอ้วน และควรงดสูบบุหรี่
  4. ไม่ห้ามอาหารใดๆ ยกเว้นในบางรายที่มีอาการข้ออักเสบเมื่อรับประทานอาหารบางชนิด แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวชั่วคราว แต่เมื่อคุมระดับกรดยูริกได้แล้ว จะรับประทานอาหารได้ทุกประเภท

โรคเกาต์ (Gout) เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคข้ออักเสบ (Arthritis) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ชาย อย่างไรก็ดีผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ก็มีโอกาสเป็นได้มากขึ้น นอกจากนี้มักเกิดในผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ส่วนเด็กไม่ค่อยพบ

เกาต์จะมีอาการปวดร้อน บวม ที่ข้อ ซึ่งมักเกิดที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้า มีสาเหตุหลักมาจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดที่มากเกินจนมีการตกผลึกขึ้นในข้อ ตามสถิติ มีชาวอเมริกันมากกว่า 3 ล้านคนที่เป็นโรคเกาต์

แหล่งข้อมูล

1. โรคเกาต์ (Gout). http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000022307[2016, April 23].

2. Gout. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gout/basics/definition/con-20019400 [2016, April 23].

3. Gout. http://www.webmd.com/arthritis/tc/gout-topic-overview [2016, April 23].

4. Gout. http://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Gout [2016, April 23].