ฮูลาฮุป พุงยุบ เอวเล็ก (ตอนที่ 2)

ในปี พ.ศ. 2500 ริชาร์ด คเนอร์ (Richard Knerr) และ อาร์เธอร์ เมลิน (Arthur Melin) ได้ความคิดจากห่วงออกกำลังกาย (Hula Hoop) ไม้ไผ่ของชาวออสเตรเลีย ทำห่วงเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.06 เมตร (42 นิ้ว) ด้วยพลาสติกมาร์เล็กซ์ (Marlex plastic) แจกฟรี และทำการตลาด [โฆษณาประชาสัมพันธ์] ทั้งระดับชาติ และวงการขายปลีก

โดยนับเป็นการเปิดตัวแรงของพลาสติกมาร์เล็กซ์ (Marlex) ที่เรารู้จักกันดีในเวลาต่อมา ในนาม “โพลีพรอพิลิน” (Polypropyline : PP) และ “โพลีเอธิลีนความเข้มข้นสูง” (High-density polyethylene : HDPE) [ที่เราทุกคนใช้กันมากมายในชีวิตประจำวัน]

กระแสนิยมเริ่มแรงในปี พ.ศ. 2501 มีการจำหน่ายห่วงพลาสติกดังกล่าว จำนวน 25 ล้านอัน หมดไปภายใน 4 เดือน และภายใน 2 ปี ก็มียอดขายกว่า 100 อัน ช่วงทศวรรษนั้น บริษัท คาร์ลอน (Carlon) ผู้ผลิตห่วงพลาสติกนี้ ก็มียอดขายกว่า 50,000 อันต่อเดือน และห่วง [ฮูลาฮุป] นี้ได้รับเกียรติให้เข้าไปอยู่ใน “หอเกียรติยศของเล่นระดับชาติ” (National Toy Hall of Fame) ที่นิวยอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2542

การเล่นฮูลาฮุป เป็นการออกกำลังกลุ่มกล้ามเนื้อหลัก (Core muscles) ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังส่วนกลางและล่าง กล้ามเนื้อข้อสะโพก และกล้ามเนื้อต้นขา ไม่ใช่เน้นกล้ามเนื้อหน้าท้องอย่างเดียว นอกจากจะได้หน้าท้องที่แบนราบแล้ว ยังได้สัดส่วนเอวและสะโพกที่กระชับอีกด้วย

กายบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องอย่างเดียว ใช้งานกล้ามเนื้อเพียงไม่กี่มัด ทำให้ไม่สามารถทำได้นานนัก แต่การเล่นฮูลาฮุป ใช้กล้ามเนื้อช่วยกันหลายมัดทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น ร่างกายเราจะเผาผลาญไขมันเพื่อสร้างพลังงานโดยใช้ออกซิเจนมากกว่า นับเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หักโหมจนเกินไป สร้างเสริมให้หัวใจและปอดให้แข็งแรง รวมถึงทำให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นด้วย

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความนิยมในการเล่นห่วงฮูลาฮุปได้กลับมาปรากฏอีกครั้ง โดยมีการนิยามชื่อให้ต่างจากการเล่นของเด็กๆ ว่า ระบำห่วง (Hoopdance/hooping) และมีการหาทุนเพื่อซื้อหรือรณรงค์ให้บริจาคห่วงฮูลาฮุป ให้กับผู้ที่ด้อยหรือขาดแคลนโอกาส

ผู้เล่นห่วงสมัยใหม่หลายคน เลือกทำห่วงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นห่วงที่ทำด้วย “โพลีเอธิลีน” [Polyethylene : PE] และ “โพลีไวนิลคลอไรด์” [Polyvinyl chloride: PVC] มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างและหนักกว่ายุคทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493) มาก ขนาดและน้ำหนักของห่วงจะมีผลต่อท่าทางและท่วงทำนองของผู้เล่น

กล่าวคือ น้ำหนักที่มากกว่าและเส้นรอบวงที่ใหญ่กว่า ใช้สำหรับการเคลื่อนไหวที่ช้าและใช้สำหรับลำตัว ในขณะที่ห่วงเล็กใช้กับการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่าด้วยแขน ผู้เล่นอาจจะหุ้มห่วงด้วยแถบผ้า หรือพลาสติก เพื่อให้การหมุนง่ายขึ้นและเพื่อสีสันที่สวยงาม

บางครั้งก็เป็นแถบเรืองแสง มีลวดลาย ประกายแวววาว หรือเป็นท่อใสที่ใส่ลูกบอลเล็กๆ ผงประกาย (Glitter) หรือแม้แต่น้ำเพื่อให้เกิดความสวยงาม หรือเสียงเมื่อใช้งาน แล้วยังมีหลอดเรืองแสงที่กระแสไฟฟ้าผ่านได้ทางเดียว (Light-emitting diode : LED) ซึ่งเพิ่งมีเมื่อไม่นานมานี้ ก็ทำให้ห่วงเกิดแสงได้เมื่อเปิดสวิทช์ และเพื่อความสะดวกในการขนส่งหรือพกพา บางบริษัทได้แยกห่วงฮูลาฮุป เป็น 3 หรือ 4 ส่วน หรือบางทีก็บิด [ให้เป็นวงที่] เล็กลงได้ หรือพับครึ่งได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Hula Hoop. http://en.wikipedia.org/wiki/Hula_hoop [2012, June 30].
  2. ฮูลาฮุป...ทางเลือกแรก หรือ ทางเลือกสุดท้าย http://www.gotoknow.org/blogs/posts/348828? [2012, June 30].
  3. เล่น Hula Hoop ดีกว่า ทำกายบริหารกล้ามเนื้อท้อง อย่างไร http://dmsknowledge.net/index.php?name=news&file=readdetail&news_id=230 [2012, June 30].