ฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal gland hormones)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ฮอร์โมนต่อมหมวกไต

ฮอร์โมนต่อมหมวกไต(Adrenal gland hormones)หรือ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต(Hormones secreted by adrenal gland) คือ ฮอร์โมนที่สร้างและหลั่งจากต่อมหมวกไต

ก. ฮอร์โมนสร้างจากต่อมหมวกไตส่วนนอก(Adrenal cortex) การสร้างและหลั่งฮอร์โมนต่อมหมวกไตส่วนนอก อยู่ในกำกับควบคุมของต่อมใต้สมองส่วนหน้าและสมองส่วนไฮโปธาลามัส โดยฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนนอกมี3ชนิดคือ

  • Mineralocorticoids เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่อยู่ในกลุ่มฮอร์โมน Corticosteroids โดยฮอร์โมนหลักที่สำคัญที่สุดและเป็นส่วนใหญ่ของMineralocorticoids คือฮอร์โมน Aldosterone ทั้งนี้ Mineralocorticoids/ Aldosterone มีหน้าที่คงสมดุลของน้ำและเกลือแร่(Fluid electrolyte balance)ในร่างกายจึงส่งผลต่อเนื่องไปถึงการควบคุมความดันโลหิตด้วย ซึ่งการทำงานของฮอร์โมนนี้จะผ่านลำไส้ในการดูดซึมเกลือแร่โซเดียม และผ่านไตในการกรอง เกลือแร่โพแทสเซียมออกไปกับปัสสาวะ ซึ่งการทำงานของ Aldosterone ในการคงสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ที่รวมถึงความดันโลหิตนี้จะทำงานรวมกับ เอนไซม Renin และกับฮอร์โมน Angiotensin
  • Glucocorticoids ย่อว่า GCs เป็นฮอร์โมนในกลุ่ม Corticosteroids และสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่นกัน แต่จะทำงานต่างจาก Mineralocorticoids/ Aldosterone โดยจะมีบทบาทควบคุมทางด้าน ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/กระบวนการเกิดการอักเสบ และกระบวนการ Metabolism ของร่างกาย ทั้งจาก คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ซึ่งฮอร์โมนหลักและสำคัญในกลุ่มนี้คือ ฮอร์โมน “Cortisol อีกชื่อคือ Hydrocortisone” นอกจากนี้ ฮอร์โมนนี้ยังมีผลต่อการทำงานของสมองในด้าน การรับรู้ ความจำ และอารมณ์ต่างๆ
  • Adrenal androgens ฮอร์โมนเพศชาย(Androgens)ที่สร้างจากต่อมฯส่วนนอก จะเช่นเดียวกับที่สร้างจากอัณฑะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฮอร์โมนเพศชายชนิด Dehydroepiandrosterone(ย่อว่า DHEA) ชื่ออื่นคือ Dehydroisoandrosterone หรือ Dehydroandrosterone (ย่อว่า DHA) หรือ 5-dehydroandrosterone(ย่อว่า 5-DHA) หรือ Isoandrostenolone
  • ซึ่งฮอร์โมนAndrogen สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงได้ทั้ง Estrogen และ Progesterone ซึ่งฮอร์โมนเพศจากต่อมหมวกไตนี้ มีหน้าที่ช่วยการทำงานของอัณฑะ(ในเพศชาย) และของรังไข่(ในเพศหญิง)โดยเฉพาะในช่วงที่อัณฑะ/ รังไข่ยังเจริญไม่เต็มที่

ข. ฮอร์โมนสร้างจากต่อมหมวกไตส่วนใน(Adrenal medulla) มี 3 ชนิด โดย2ชนิดหลักที่สร้างปริมาณมาก คือ Epinephrine อีกชื่อคือ Adrenaline; และ Norepinephrine อีกชื่อคือ Noradrenaline; ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ เรียกทั่วไปว่า “ฮอร์โมนเพื่อการต่อสู้ หรือเพื่อการหนี(Fight or Flight hormone)” และชนิดที่3ซึ่งสร้างในปริมาณน้อยกว่าทั้ง2ชนิดแรกมาก คือ Dopamine ซึ่งฮอร์โมนทั้ง3ตัวนี้ รวมเรียกว่า ฮอร์โมน “Catecholamine หรือ Catecholamine hormone”

อนึ่ง การสร้างและหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนใน จะอยู่ในกำกับควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ(Autonomic nervous system) โดยเฉพาะระบบประสาทซิมพาทีติก(Sympathetic nervous system)

  • Epinephrine ทำงานโดยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มปริมาณเลือดในการสูบฉีดของหัวใจ เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด เพื่อร่างกายตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น กลัว ตื่นเต้น โกรธ ตกใจ
  • Norepinephrine ทำงานเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อลาย เพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยทำงานร่วมกับ Epinephrine
  • Dopamine เป็นฮอร์โมนส่วนใหญ่สร้างจากสมอง ส่วนน้อยมากจากต่อมหมวกไตส่วนใน มีหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ที่เกี่ยวข้อง กับ อารมณ์ ความรู้สึก ความจำ สมาธิ การเคลื่อนไหวร่างกาย การนอนหลับ ความสดชื่นเบิกบาน

อนึ่ง: อ่านเพิ่มเติมมนเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ต่อมหมวกไต”, เรื่อง“ต่อมใต้สมอง”, เรื่อง “ไฮโปธาลามัส”, เรื่อง“ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง” ,และเรื่อง “ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส”

บรรณานุกรม

  1. https://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/endocrinology/adrenal_glands_85,p00399 [2018,March24]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Mineralocorticoid [2018,March24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid [2018,March24]
  4. http://www.yourhormones.info/hormones/dehydroepiandrosterone/ [2018,March24]
  5. http://endocrinediseases.org/adrenal/adrenal_what.shtml [2018,March24]
  6. http://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/endocrine/adrenal/medhormones.html [2018,March24]
  7. https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/dehydroandrosterone [2018,March24]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Dehydroandrosterone [2018,March24]