อุบัติเหตุ 3 วัน อันตราย

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สรุปเหตุการณ์ช่วง 3 วัน อันตราย เนื่องในเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2554 ถึงวันที่ 1 มกราคม. 2555 ว่า ยอดสถิติ 3 วัน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 1,605 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 165 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1,782 ราย ทั่วประเทศ ตามแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ บุรีรัมย์ มีทั้งหมด 14 ราย ส่วนสถิติตลอดปี พ.ศ. 2553 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 13,777 ราย

อุบัติเหตุจราจร (Traffic collision หรือ Traffic accident) เป็นการชนกันระหว่างยานยนต์ (Motor vehicle) ซึ่งยังผลให้เกิดความเสียหายของทรัพย์สิน และบุคคลที่บาดเจ็บ ซึ่งอาจสูญเสียชีวิต อุบัติเหตุจราจรทั่วโลก นำไปสู่ความตายและทุพพลภาพ รวมทั้งต้นทุนทางการเงินต่อสังคมและแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ได้แก่ การออกแบบยานพาหนะ ความเร็วของการขับ การออกแบบป้ายตามท้องถนน สภาพแวดล้อมของถนน ทักษะความชำนาญของคนขับ สมรรถนะและพฤติกรรมของคนขับ ตัวอย่างมาตรการเพิ่มความปลอดภัยได้ทันที คือการมีป้ายจราจรที่เหมาะสม ซึ่งสามารถลดความผิดพลาดของคนขับ และความถี่ของรถชนกันลงได้อย่างน้อยประมาณ 1 ใน 3 [ตามผลการศึกษาวิจัย]

แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือปัจจัยเรื่องคน อันได้แก่พฤติกรรม การมองเห็นและการได้ยินที่ชัดเจน (Visual and auditory acuity) ความสามารถในการตัดสินใจ และความเร็วในปฏิกิริยาตอบโต้ ส่วนอุปสรรคต่อการขับที่ปลอดภัย คือความเร็วของการขับรถที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด และการเสื่อมสมรรถนะของคนขับ อันสืบเนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ จนมึนเมา

ความคึกคะนองของผู้ขับที่เป็นวัยรุ่นทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนทองถนที่สูงกว่าวัยอื่นๆ และเป็นเหตุผลหลักที่บริษัทประกันภัยรถยนต์ คิดค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้น สำหรับคนขับที่อยู่ในวัย 20 ปีต้นๆ โดยเฉพาะในปีแรกที่สอบได้ใบขับขี่ และการกินยาต่างๆ ทั้งจากแพทย์สั่งหรือยาที่ซื้อเองได้จากร้านขายยา อาทิ ยาแก้แพ้ (Antihistamine) รวมทั้งการลักลอบกินยาเสพติดให้โทษ

การศึกษาวิจัย แสดงผลว่า สมาธิของคนขับรถได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวน โดยเฉพาะการสนทนาและใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ ทั้งๆที่มีกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การอดตาหลับขับตานอน ความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก การขาดสมาธิจนวอกแวก การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และการไม่ดูแลรักษารถ ตลอดจนการเผชิญกับรถจักรยานยนต์

รถจักรยานยนต์ไม่มีสิ่งป้องกันใดๆ นอกจากเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของสถิติอุบัติเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะมากกว่า 2 เท่าตัวหลังจากการชนกับรถยนต์ ในปี พ.ศ. 2548 มีรายงานอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 198,735 ครั้งในประเทศอังกฤษ โดยมีผู้เกี่ยวข้องถึง 271,017 คน ซึ่งรวมคนตายทั้งสิ้น 3,201 ราย (1.1%) และบาดเจ็บสาหัส 28,954 ราย (10.7%) ในจำนวนนี้ 178,302 (66%) เป็นผู้ขับรถยนต์ 24,824 (9%) เป็นผู้ขี่จักรยานยนต์ ซึ่ง 569 ราย (2.3%) ถึงแก่ความตาย และ 5,939 ราย (24%) บาดเจ็บสาหัส

นอกจากนี้ การรวมปัจจัยหลายเงื่อนไขเข้าด้วยกัน อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์แม้ในปริมาณต่ำและเสพกัญชาในเวลาเดียวกัน มีผลกระทบต่อการขับรถมากกว่าการแยกดื่มแอลกอฮอร์หรือเสพกัญชาเพียงอย่างเดียว หรือการกินยาแต่ละชนิดมิได้มีผลเสีย แต่เมื่อกินยารวมกันหลายชนิด ก็เกิดความง่วงนอน ผลกระทบนี้จะเห็นได้ชัดในกรณีผู้สูงอายุที่การทำงานของไต ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนผู้อยู่ในวัยฉกรรจ์

แหล่งข้อมูล:

  1. ศปถ.สรุปอุบัติเหตุ 3 วัน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325391326&grpid=&catid=19&subcatid=1904 [2012, January 9].
  2. Traffic collision. http://en.wikipedia.org/wiki/Traffic_collision [2012, January 9].