อีโบลา อาละวาด (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

รายงานข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศอูกานดา ยังระบุอีกว่า จนถึงขณะนี้ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ที่ติดเชื้ออีโบลาซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีการติดต่อผ่านทางการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงการสัมผัสกับของเหลวของร่างกาย เช่น น้ำลาย ของเหลวจากการอาเจียน อุจจาระ เหงื่อ เลือด และน้ำอสุจิ

ปัจจุบันองค์การอาหารและยา (FDA) ยังไม่ได้มีการมาตราการเกี่ยวกับการรักษาการติดเชื้ออีโบลาโดยเฉพาะ การรักษาในเบื้องต้นนั้นรักษาไปตามอาการ รวมถึงการลดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อโรค

การรักษาความสมดุลของของเหลวในร่างกาย และการให้เกลือแร่ (Electrolytes) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (Dehydration) การต้านอาการเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulants) ในระยะแรกของการติดเชื้อ เพื่อป้องกันหรือควบคุมการแพร่กระจายของการเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือด การควบคุมอาการตกเลือดในระยะท้ายของการติดเชื้อ การรักษาระดับออกซิเจน การลดอาการปวด และการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาต้านเชื้อรา (Antimycotics) เพื่อรักษาการติดเชื้อ (Infection)

ในรัสเซียเคยมีการให้ยาสร้างภูมิคุ้มกัน (Hyperimmune equine immunoglobulin) กับเจ้าหน้าที่ห้องทดลองที่ติดเชื้ออีโบลาโดยอุบัติเหตุ แต่อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ เสียชีวิตในที่สุด

อัตราการตายโดยเฉลี่ยของผู้ติดเชื้ออีโบลาอยู่ที่ร้อยละ 68 กรณีผู้ป่วยรอดชีวิต อาจมีการฟื้นตัวในทันทีทันใดอย่างสมบูรณ์ หรือ อาจทำให้เกิดภาวะโรคอื่นตามมา (Sequelae) เช่น อัณฑะอักเสบ (Orchitis) อาการปวดข้อ (Arthralgia) อาการปวดกล้ามเนื้อ (Myalgia) การตกสะเก็ด (Desquamation) หรือ หัวล้าน (Alopecia)

นอกจากนี้ยังมีอาการทางสายตาปรากฏอย่างเด่นชัด เช่น อาการกลัวแสง (Photophobia) อาการน้ำตาไหล (Hyperlacrimation) ม่านตาอักเสบ (Iritis) เยื่อโครอยด์อักเสบ (Choroiditis) และ ตาบอด (Blindness)

และที่สำคัญที่เป็นที่รู้กันดีก็คือ เชื้ออีโบลา EBOV (Ebola virus) และเชื้อ SUDV (Sudan virus) ยังสามารถคงอยู่ในน้ำอสุจิ (Sperm) ของผู้รอดชีวิตบางคน ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นโรคครั้งที่ 2 โดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ตามสภาพธรรมชาติโดยปกติทั่วไป ไวรัสตระกูลนี้ไม่ได้ติดต่อในสภาพละอองของเหลว (Aerosol) แต่จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) นักวิจัยสามารถทำให้มันมีโอกาสติดต่อได้สูงในสภาพของละอองน้ำขนาด 0.8–1.2 ไมโครเมตร

เนื่องจากความร้ายแรงในการติดเชื้อ ทำให้มีอัตราการตายที่สูง ผู้ติดเชื้อสามารถเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วก่อนที่จะเป็นพาหะนำโรคได้ เชื้อไวรัสตัวนี้จึงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางชีวภาพที่ร้ายแรง โดยถูกจัดให้เป็นอาวุธทางชีวภาพประเภท ก" (Category A biological weapons) ดังที่มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ประเภทสยองขวัญ

และเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันและรักษาได้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) จึงวางมาตรการเข้มงวดกำหนดให้จัดไวรัสอีโบลาไว้เป็น "ความปลอดภัยชีวภาพ ระดับ 4" (Biosafety Level 4 : BSL-4) ซึ่งจะต้องจัดการห่อหุ่มในการขนย้ายและจัดเก็บด้วยความระมัดระวังอย่างสูง นักวิจัยในห้องทดลองต้องมีการฝึกฝนเรื่องการจัดการ BSL-4 และต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง

แหล่งข้อมูล:

  1. เหยื่อเชื้อมรณะอีโบลาระบาดในยูกันดาพุ่ง 16 ศพ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000094955&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, August 13].
  2. Ebola virus disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Ebola_virus_disease [2012, August 13].
  3. Ebola Hemorrhagic Fever: Fact Sheet. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/ebola-hemorrhagic [2012, August 13].