อีโบลา อาละวาด (ตอนที่ 3)

รายงานข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศอูกานดา ยังระบุต่อไปว่า ยังมีผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้ออีกอย่างน้อย 18 ราย ถูกแยกกักบริเวณไว้ เพื่อรอดูอาการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตคิบาเล ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดของเชื้อมรณะเป็นครั้งแรก ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่เพื่อคัดแยกผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อและให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านที่เหลือในพื้นที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันที่จำเป็นแล้ว

การแพร่ระบาดของอีโบลามักเกิดในโรงพยาบาลเล็กๆ ซึ่งไม่มีสุขอนามัยที่ดี [ส่วนหนึ่งเกิดจาก] เข็มที่ใช้แล้วนำมาใช้อีก และเครื่องอบฆ่าเชื้อก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากในโรงพยาบาลเหล่านั้น ในโรงพยาบาลสมัยใหม่ที่มีสุขอนามัยที่ดี ใช้เข็มแล้วทิ้ง จะมีการติดเชื้อที่น้อยกว่า

การติดต่อที่แพร่กระจายด้วยการสัมผัส (Contagious) ทำให้ต้องมีการห้ามการสัญจรไปมาของคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และเนื่องจากศพที่ตายแล้วก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นแพทย์บางท่านอาจต้องทำลายศพด้วยวิธีที่ปลอดภัย แทนที่จะปล่อยให้มีการฝังตามพิธีกรรมปกติ

การแพร่ระบาดของโรคส่วนใหญ่เกิดในทวีปแอฟริกา และคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลและเอกชนช่วยกันกั้นเขตติดต่อโรค ในขณะที่การขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านถนนหนทางและการขนส่ง ก็เป็นตัวช่วยควบคุมโรคให้อยู่ในพื้นที่ได้โดยปริยาย

การติดเชื้ออีโบลาแพร่กระจายได้เร็วมากด้วยการสัมผัสของเหลวจากร่างกาย เช่น อุจจาระจากการท้องร่วง/ท้องเสีย อาเจียน และเลือดไหล การติดเชื้อจำนวนมากมักเกิดในหมู่คนจนเพราะขาดเครื่องมือเครื่องใช้ที่ถูกสุขลักษณะ

ในโรงพยาบาลที่ห่างไกลความเจริญสิ่งที่ทำได้ก็คือ การแยกผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่ง (Secretion) ของผู้ป่วย รวมถึงศพผู้ป่วยด้วย

มีการพัฒนาและทดลองวัคซีนป้องกันอีโบลาหลายชนิดในสัตว์ วัคซีนที่เป็นไปได้ก็คือ วัคซีนดีเอ็นเอ (DNA vaccines) วัคซีน Adenoviruses วัคซีน Vesicular stomatitis Indiana virus (VSIV) ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่คนได้ และยังอยู่ในระหว่างทดลองอยู่ ดังนั้นในปัจจุบันองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) จึงยังไม่ได้อนุมัติวัคซีนใดเพื่อใช้ในคนเพื่อป้องกันอีโบลา

ในท้องถิ่นที่มีการเกิดโรค ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ด้วยการไม่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่คน เช่น ค้างคาว ลิงชิมแปนซี กอริลล่า หากมีการแพร่ระบาดของอีโบลาก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง (Skin-to-skin) กับผู้ป่วย การสัมผัสกับสารคัดหลั่งและของเหลวของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้และภาชนะของผู้ป่วย

ควรแยกผู้ป่วยออกเด็ดขาด แพทย์หรือพยาบาลผู้ดูแลต้องใส่เครื่องป้องกันอย่างรัดกุมตลอดเวลา เช่น หน้ากากใช้แล้วทิ้ง ถุงมือ แว่นตา และเสื้อกาวน์

สำนักข่าวบีบีซี (BBC : British Broadcasting Corporation) ได้เคยรายงานว่า จากการศึกษาพบว่ามีลิงกอริลล่า 5,000 ตัว ที่เสียชีวิตเพราะการระบาดของอีโบลา

แหล่งข้อมูล:

  1. เหยื่อเชื้อมรณะอีโบลาระบาดในยูกันดาพุ่ง 16 ศพ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000094955&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, August 12].
  2. Ebola virus disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Ebola_virus_disease [2012, August 12].
  3. Ebola Hemorrhagic Fever: Fact Sheet. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/ebola-hemorrhagic [2012, August 12].