อีโบลา อาละวาด (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศอูกานดา เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในพื้นที่คาดว่า การระบาดที่เกิดขึ้นในปีนี้จะไม่ร้ายแรงเท่ากับการระบาดเมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อถึง 425 รายและมากกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตในครั้งนั้น

อาการตกเลือด (Hemorrhage) ที่ทำให้เลือดในร่างกายลดน้อยลง ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต แต่สาเหตุของการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นเกิดจาก การที่ระบบอวัยวะภายในทำงานผิดปกติ (Multiple organ dysfunction syndrome : MODS) อันเนื่องมาจากการไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation) และมีการตายของเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่สำคัญๆ (Focal tissue necroses)

ผู้ป่วยทั้งหมดจะมีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Coagulopathy) และมีอาการบกพร่องของระบบไหลเวียนในร่างกาย โดยร้อยละ 40 – 50 มีเลือดออกในเยื่อบุผิวในช่องจมูกและช่องปาก และ ส่วนที่เป็นแผล หรือเป็นรอยเจาะ (Puncture sites) ในขณะที่ร้อยละ 50 มีอาการเป็นผื่นที่คล้ายจากแพ้ยา

การมีเลือดออก รวมถึงการอาเจียนเป็นเลือดซึ่งเกิดจากภาวะการมีเลือดออกในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร (Hematemesis) อาการไอเป็นเลือด(Hemoptysis) อุจจาระดำ (Melena) และมีเลือดออกบริเวณเยื่อบุผิวในระบบทางเดินอาหาร จมูก ช่องคลอด และ เหงือก

อาการที่เกิดจากการติดเชื้อในผู้ป่วยทั้งหมดอาจไม่เหมือนกัน ตารางข้างล่างเป็นตารางที่สรุปได้จากกรณีของผู้ป่วยติดเชื้อที่เกิดขึ้น

ระยะเวลา อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอีโบลาส่วนใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอีโบลาบางส่วน
ภายใน 2-3 วันหลังการติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง อ่อนเพลีย ท้องร่วง/ท้องเสีย เจ็บคอ สะอึก มีผื่นแพ้ ตาแดงและระคายเคือง อาเจียนเป็นเลือด ท้องเสียถ่ายเป็นเลือด
ภายใน 1 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ เจ็บหน้าอก ช็อคหมดสติ และเสียชีวิต ตาบอด ตกเลือด

นักวิจัยยังไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงสามารถฟื้นตัวจากการติดเชื้ออีโบลาได้ ในขณะที่คนอื่นต้องเสียชีวิต อย่างไรก็ดีเป็นที่รับรู้กันว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตมักจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อได้ การวินิจฉัยโรคในผู้ที่ติดเชื้อเพียงไม่กี่วันอาจทำได้ลำบาก เพราะอาการตาแดงเคือง อาการผื่นแพ้ อาจพบได้ในผู้ป่วยทั่วไป

ในการวินิฉัยโรค หลังการติดเชื้อ 2-3 วัน มีการใช้วิธีทดสอบในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) หลายวิธี เช่น วิธี Antigen-capture enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) วิธี IgG ELISA วิธี Polymerase chain reaction (PCR) และการแยกไวรัส (Virus isolation)

แหล่งข้อมูล:

  1. เหยื่อเชื้อมรณะอีโบลาระบาดในยูกันดาพุ่ง 16 ศพ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000094955&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, August 11].
  2. Ebola virus disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Ebola_virus_disease [2012, August 11].
  3. Ebola Hemorrhagic Fever: Fact Sheet. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/ebola-hemorrhagic [2012, August 11].