อีโบลา อาละวาด (ตอนที่ 1)

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของยูกันดาซึ่งเป็นประเทศอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริการายงานว่า มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาทางตะวันตกของประเทศ โดยระบุต้นตอของการระบาดอยู่ที่เขตคิบาเลซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกัมปาลา เมืองหลวง ไปทางตะวันตกราว 170 กิโลเมตร ทั้งนี้ มียอดผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 16 ราย

โรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease : EVD) หรือ โรค "ไข้เลือดออกอีโบลา" (Ebola hemorrhagic fever : EHF) เป็นชื่อของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา 4 สายพันธุ์ คือ 1) Bundibugyo virus (BDBV) 2) Ebola virus (EBOV) 3) Sudan virus (SUDV) และ 4) Taï Forest virus (TAFV ซึ่งในอดีตรู้จักกันในชื่อ Côte d'Ivoire Ebola virus หรือ Ivory Coast Ebolavirus : CIEBOV)

ไวรัสอีโบลาอยู่ในวงศ์ฟิโลไวลิเดอี (Filoviridae) มีรูปลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus) ซึ่งอยู่ในวงศ์ฟิโลไวลิเดอีเช่นเดียวกัน และยังมีอาการของโรคคล้ายคลึงกันด้วย โรคระบาดอีโบลาสร้างปัญหาที่หนักและร้ายแรงและเป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุด

มีการค้นพบการระบาดครั้งแรก ในปี พ.ศ.2519 ที่บริเวณใกล้ๆ ลุ่มแม่น้ำอีโบลาในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในทวีปแอฟริกา แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าต้นกำเนิดของเชื้ออีโบลามาจากไหน

แต่จากหลักฐานที่มีอยู่และสภาพไวรัสอื่นที่คล้ายๆ กัน นักวิจัยเชื่อว่าเชื้อไวรัสอีโบลาเกิดจากสัตว์ (Zoonotic) โดยอาศัยอยู่ในสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ มีการพบเชื้ออีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กาบอน ซูดาน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) และยูกันดา แต่ไม่เคยมีรายงานการพบเชื้ออีโบลาในคนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดีนักวิจัยมีข้อสมมุติฐานว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อคนแรกนั้น ติดต่อโดยการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หลังการติดเชื้อแล้ว คนสามารถกระจายเชื้อไปได้หลายทาง ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเชื้อมักกระจายในครอบครัวและเพื่อนของผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะด้วยการป้อนอาหาร การกอด หรือการพยาบาลผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังติดต่อได้โดยการสัมผัสกับวัตถุที่มีเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา เป็นต้น

อาการของการติดเชื้ออีโบลามักเริ่มต้นด้วยอาการป่วยเป็นไข้เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) มีอาการหนาว ปวดข้อ (Arthralgia) ปวดกล้ามเนื้อ (Myalgia) และเจ็บหน้าอก มีอาการคลื่นไส้ร่วมกับอาการปวดช่องท้อง เบื่ออาหาร (Anorexia) ท้องเสีย (Diarrhea) และอาเจียน (Vomiting)

ระบบทางเดินหายใจมีอาการคออักเสบ เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก (Dyspnea) และสะอึก (Hiccups) มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ปั่นป่วน/ภาวะกายใจไม่สงบ (Agitation) สับสน (Confusion) อ่อนเพลีย (Fatigue) ซึมเศร้าหดหู่ (Depression) เป็นลมชัก (Seizures) และบางครั้งมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว (Coma)

ในส่วนผิวหนังอาจมีอาการเป็นผื่นคล้ายจากแพ้ยา (Maculopapular rash) มีจุดเลือดออก (Petechiae) จ้ำเขียวบนผิวหนัง (Purpura) ห้อเลือด (Ecchymoses) และมีภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อที่มีขนาดใหญ่และสามารถคลำได้เป็นก้อน (Hematomas)

แหล่งข้อมูล:

  1. เหยื่อเชื้อมรณะอีโบลาระบาดในยูกันดาพุ่ง 16 ศพ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000094955&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, August 10].
  2. Ebola virus disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Ebola_virus_disease [2012, August 10].
  3. Ebola Hemorrhagic Fever: Fact Sheet. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/ebola-hemorrhagic [2012, August 10].