อีโทโพไซด์ (Etoposide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีโทโพไซด์(Etoposide) เป็นอีกหนึ่งรายการของยาเคมีบำบัด (Chemotherapy medication) จัดเป็นสารประเภทอัลคาลอยด์จากพืช(Plant Alkaloids)ที่สกัดได้จากรากของพืชจำพวก Podophyllum peltatum(พืชสมุนไพรของสหรัฐอเมริการและแคนาดา) ทางคลินิกใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาโรคมะเร็ง ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่ อัณฑะ กระเพาะปัสสาวะ ปอด ต่อมลูกหมาก กระเพาะอาหาร มดลูก ตลอดจนกระทั่งมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง ในปี ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาอีโทโพไซด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ประชาชน

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีโทโพไซด์มีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด สำหรับยาแบบรับประทานจะมีการดูดซึมของตัวยาจากระบบทางเดินอาหารเฉลี่ยเพียง 50% ของขนาดรับประทาน ตัวยาในกระแสเลือดจะกระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย แต่การซึมผ่านของยาอีโทโพไซด์เข้าสู่สมองทำได้ไม่ดีเท่าใดนัก การทำลายโครงสร้างเคมีของยานี้จะเกิดขึ้นที่ตับ โดยร่างกายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4–11 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ กรณียาชนิดฉีดแพทย์มักจะให้ยาโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำเป็นเวลาการให้ยานานประมาณ 30–60 นาที

ยาอีโทโพไซด์มีความเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องใช้ความระวังอย่างมากเพื่อมิให้การแทงเข็มฉีดยาทะลุออกนอกหลอดเลือด และทำให้ยานี้สัมผัสกับเนื้อเยื่อภายนอกเพราะจะทำให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นเกิดการอักเสบจนถึงขั้นเกิดเนื้อตายเฉพาะส่วนที่สัมผัสยานี้ได้ และยาฉีดอีโทโพไซด์สามารถทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ดังนั้นระหว่างการให้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตอยู่ตลอดเวลาจากบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอัตราการหยดยานี้เข้าหลอดเลือดฯ ยิ่งเร็วยิ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำมากขึ้นตามมา บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่จะปรับอัตราการให้ยาทางหลอดเลือดได้เหมาะสมที่สุด

ยาอีโทโพไซด์อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆ จากรายงานทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 30% ที่ได้รับยาชนิดนี้จะมีระดับเม็ดเลือดขาวและระดับเกล็ดเลือด ต่ำ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายหลังได้รับยานี้ประมาณ 7–14 วัน และปริมาณเม็ดเลือดขาวกับเกล็ดเลือดจะกลับมาปกติเมื่อเวลาผ่านไป 21–28 วัน นอกจากนี้ อาจมีอาการ ผมร่วง ประจำเดือนขาด(ในสตรี) โอกาสมีบุตรยากขึ้นในระยะยาวหลังหยุดใช้ยานี้ คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการช่องปากเป็นแผล ท้องเสีย เบื่ออาหาร การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป การได้รับยานี้ซ้ำๆอาจกระทบต่อปลายเส้นประสาท โดยจะก่อให้เกิดอาการชาตามนิ้วมือและนิ้วเท้า นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับยาอีโทโพไซด์ ยังจะมีความเสี่ยงได้บ้างที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในภายหลังแต่การพัฒนเป็นมะเร็งดังกล่าว อาจต้องใช้เวลาเป็นแรมปีและต้องได้รับยานี้ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การมาพบและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์สามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

ข้อควรปฏิบัติเพื่อนำมาซึ่งความปลอดภัยและลดอาการข้างเคียงต่างๆของยาอีโทโพไซด์ มีดังนี้ เช่น

  • กรณีมีอาการปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยานี้ อาจใช้วิธีประคบร้อนบริเวณดังกล่าวเพื่อบรรเทาอาการปวด ผู้ป่วยสามารถสอบถามวิธีปฏิบัติจากบุคคลากรทางการแพทย์ได้
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร เพื่อทำให้ร่างกายสดชื่น
  • ล้างมือทำความสะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆที่ผ่านทางมือ
  • กรณีมีแผลในปาก/ช่องปาก อาจใช้ผงเบกกิ้ง โซดา(Baking soda)ครึ่ง ถึงหนึ่งช้อนชาผสมเกลือแกง(เกลือทำอาหาร, Sodium chloride)อีกครึ่ง ถึงหนึ่งช้อนชาด้วยก็ได้ โดยละลายในน้ำ 1 แก้ว (240 ซีซี/c.c.) แล้วอมบ้วนปากวันละ 3 ครั้ง รวมถึงการใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนในการแปรงฟันรวมกับยาสีฟันชนิดที่ไม่ทำให้แสบร้อนในปาก
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บจนมีแผลเลือดออกเพราะการใช้ยานี้จะเสี่ยงต่อเลือดออกได้ง่าย จึงอาจเสียเลือดได้มากจากแผลเลือดออก
  • กรณีมีอาการคลื่นไส้ ควรขอคำปรึกษาแพทย์ พยาบาล เพื่อรับยาต้านอาการอาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้ รวมถึงให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสจืด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่องประเภทอาหารทางการแพทย์) เป็นปริมาณน้อยๆต่อมื้อ แต่รับประทานให้บ่อยๆต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดจัด ด้วยยาอีโทโพไซด์สามารถกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้มี ความไวต่อแสงแดดหรือเกิดผื่นแพ้แสงแดดง่ายกว่าปกติ กรณีต้องอยู่ที่โล่งแจ้งให้ใช้โลชั่น/ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป ทาผิวหนังก่อนออกแดดเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้ฟูสภาพร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
  • รับประทานอาหารที่สนับสนุนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการดูแลรักษาจะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ เครื่องดื่มดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลเสีย(ผลข้างเคียง) เช่น ทำให้การฟื้นสภาพร่างกายของผู้ป่วยช้าลง
  • กรณีผู้ป่วยสตรีวัยมีประจำเดือน ต้องป้องกันการตั้งครรภ์/การคุมกำเนิด ด้วยตัวยาอีโทโพไซด์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้อย่างรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัด เช่น ศูนย์การค้า ด้วยผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาประเภทยาเคมีบำบัดที่รวมถึงยาอีโทโพไซด์ จะมีภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ จึงมีโอกาสการติดเชื้อโรคได้ง่าย
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับ/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจนับเม็ดเลือด(การตรวจซีบีซี) ตรวจการทำงานของตับ ของไต ตามแพทย์นัด เพื่อเป็นการประเมินผลการรักษาจากยาอีโทโพไซด์ ตลอดถึงเพื่อประเมินอาการข้างเคียงจากยานี้ ที่อาจส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาอีโทโพไซด์ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดให้อยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษและยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชน และหากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาอีโทโพไซด์เพิ่มเติม สามารถสอบถามจากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลได้

อีโทโพไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีโทโพไซด์

อาจเป็นเพราะสถิติและรายงานทางคลินิกจากการรักษาโรคมะเร็งของยาอีโทโพไซด์ ทำให้ในปัจจุบันทางการแพทย์จึงนิยมใช้ยานี้รักษามะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer) และมะเร็งปอดทั้งชนิด มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell lung cancer) และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต(Non-small cell lung cancer)

อีโทโพไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีโทโพไซด์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในเซลล์มะเร็งอย่างเช่น DNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหมดความสามารถในการแบ่งตัวหรือผลิตเซลล์รุ่นใหม่ออกมา กลไกเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดสรรพคุณของการรักษาโรคมะเร็ง แต่ข้อเสียประการหนึ่งของยาเคมีบำบัดรวมถึงยาอีโทโพไซด์ คือ ไม่สามารถแยกแยะและทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังเข้าเล่นงานเซลล์ปกติของร่างกายด้วย เซลล์ปกติที่ได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยาอีโทโพไซด์มีหลายประเภท เช่น เซลล์เม็ดเลือด(ไขกระดูก) เนื้อเยื่อในช่องปาก เซลล์ประสาท เซลล์ของรากผม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติได้เมื่อหมดฤทธิ์ของยานี้ แต่ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

อีโทโพไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีโทโพไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Etoposide ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Etoposide ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/แคปซูล

อีโทโพไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีโทโพไซด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก:

  • กรณียาฉีด, ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 35 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน เป็นระยะเวลา 4 วัน หรือแพทย์อาจให้ยากับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น50 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน เป็นเวลา 5 วัน และ แพทย์อาจมีคำสั่งให้ยาซ้ำทุก 3–4 สัปดาห์
  • กรณียารับประทาน, ผู้ใหญ่: การให้ยาจะมีขนาด 2 เท่าของการให้ยาแบบฉีด โดยรับประทานยาขนาด 70 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน เป็นเวลา 4 วัน หรือ แพทย์อาจให้รับประทานยา 100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน เป็นเวลา 5 วัน

ข. สำหรับโรคมะเร็งอัณฑะ:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 50–100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน หรือหยดยาเข้าหลอดเลือดฯขนาด 100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน ในวันที่ 1, 3 และ 5 และ แพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำทุก 3–4 สัปดาห์

อนึ่ง:

  • เด็ก: กรณีการใช้ยานี้ในเด็ก จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • แพทย์อาจให้ยาเคมีบำบัดชนิดอื่นร่วมในการรักษาโรคมะเร็ง โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของชนิดโรค อาการ และสภาพร่างกายผู้ป่วย
  • กรณียารับประทาน ให้รับประทานยานี้ขณะท้องว่าง
  • สำหรับการเตรียมยานี้ชนิดยาฉีด ให้เจือจางตัวยานี้ด้วยสารละลาย 5% Dextrose หรือ 0.9% Sodium chloride โดยใช้สัดส่วนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
  • ผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้ลดลงตามความเหมาะสม

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา อีโทโพไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีโทโพไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาอีโทโพไซด์ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์ /พยาบาล ผู้ที่ทำการดูแลรักษาเพื่อนัดหมายให้มารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

กรณีลืมรับประทานยาอีโทโพไซด์ ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ในขนาดยาปกติ ไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควร รับประทานยานี้ตรงเวลาเสมอ และถ้ามีการลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้ง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการใช้ยาเป็นยาฉีดแทน

อีโทโพไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีโทโพไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น ประสาทตาอักเสบ มีภาวะมองไม่เห็นชั่วคราว
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับเป็นพิษ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เยื่อบุช่องปากอักเสบ กลืนลำบาก การรับรสผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน อ่อนเพลีย วิงเวียน ปลายเส้นประสาทอักเสบ ชาปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า มีอาการชัก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผมร่วง แต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้ มีผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome แพ้แสงแดดง่าย
  • ผลระบบต่อหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ตัวเขียวคล้ำ หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดพังผืดในปอด ปอดอักเสบ หลอดลมหดเกร็งตัว/ หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบภูมิต้านทานโรค: เช่น เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้อีโทโพไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโทโพไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ขณะฉีดยานี้ ต้องระวังการแทงเข็มทะลุออกนอกหลอดเลือด ด้วยตัวยานี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับตัวยาได้
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินร่างกาย เช่น ชนิดของโรคมะเร็ง ก่อนได้รับยาอีโทโพไซด์
  • กรณีมีอาการวิงเวียนหลังจากรับการฉีดยาอีโทโพไซด์ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาโรงพยาบาล/มารับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีโทโพไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีโทโพไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีโทโพไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอีโทโพไซด์ร่วมกับ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(Smallpox vaccine) วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG vaccine) วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด(Zoster vaccine) เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าว ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาอีโทโพไซด์จะอยู่ในระดับต่ำ
  • ห้ามใช้ยาอีโทโพไซด์ร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาอีโทโพไซด์ร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะกดไขกระดูกและทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำมากตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีโทโพไซด์ร่วมกับ ยาAmiodarone ด้วยจะเกิดความเสี่ยงต่อการทำลายเส้นประสาท/ เส้นประสาทอักเสบรุนแรงของร่างกายผู้ป่วย

ควรเก็บรักษาอีโทโพไซด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอีโทโพไซด์ ดังนี้ เช่น

  • กรณียาฉีด ให้เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • กรณียาแคปซูลชนิดรับประทาน ให้เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
  • ยาทุกประเภท ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อีโทโพไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีโทโพไซด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Eposin (อีโพซิน)Pharmachemie/Teva
Fytosid (ฟายโทซิด) Fresenius Kabi
Lastet Cap (ลาสเทต แคป)Nippon Kayaku
Sedol (เซดอล)Venus Remedies

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Toposar, VePesid, Etopophos, VP-16, Etosid, Biopocide, Beposid, Eposed, Eside, Oncosid, Posid, Toposide

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/etoposide.aspx [2017,Nov18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Etoposide#History [2017,Nov18]
  3. http://chemocare.com/chemotherapy/what-is-chemotherapy/types-of-chemotherapy.aspx [2017,Nov18]
  4. http://apps.who.int/medicinedocs/documents/s23176en/s23176en.pdf [2017,Nov18]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/etoposide/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov18]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/fytosid/?type=brief [2017,Nov18]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/lastet%20cap/?type=brief [2017,Nov18]
  8. https://www.drugs.com/cdi/etoposide-capsules.html [2017,Nov18]
  9. https://www.drugs.com/dosage/etoposide.html [2017,Nov18]
  10. https://www.drugs.com/sfx/etoposide-side-effects.html [2017,Nov18]
  11. https://www.drugs.com/drug-interactions/etoposide-index.html?filter=3 [2017,Nov18]