อีเทลแคลไซด์ (Etelcalcetide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีเทลแคลไซด์ (Etelcalcetide) เป็นยาในกลุ่มแคลซิมิเมติก(Calcimimetics) ทางคลินิกนำมาบำบัดรักษาภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงในผู้ป่วยโรคไตเรื้องรัง สภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงจะส่งผลทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • เกิดภาวะกระดูกพรุนด้วยแคลเซียมจากกระดูก ถูกพาราไทรอยด์ฮฮร์โมนกระตุ้นให้มีการปลดปล่อยแคลเซียมจากมวลกระดูกเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น
  • เกิดนิ่วในไต หรือมีอาการปัสสาวะมากผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย และไม่มีแรง
  • ปวดกระดูก ปวดข้อ
  • คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร
  • ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ

การควบคุมภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงเกินไป จึงสามารถป้องกันโรคร้ายแรง ได้หลายประเภท และยาอีเทลแคลไซด์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบำบัดรักษาผู้ป่วย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีเทลแคลไซด์ เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ตัวยาอาจอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 3–5 วัน ก่อนโดนกำจัดออกไปกับกระบวนการฟอกไตถึง 60%

ระหว่างที่ได้รับยาอีเทลแคลไซด์ แพทย์จะทำการนัดหมายผู้ป่วยให้เข้ามารับการตรวจดู ระดับแคลเซียม และระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ในกระแสเลือด เป็นระยะๆ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆของยานี้ เช่นภาวะลมชัก หัวใจทำงานผิดปกติ เลือดออกในทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ ยาอีเทลแคลไซด์ ยังห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ ด้วยมีข้อมูลการใช้ยาอีเทลแคลไซด์กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า ตัวยาอีเทลแคลไซด์จะทำให้การเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ช้าลง

ยาอีเทลแคลไซด์จัดว่าเป็นยาใหม่ โดยมีการใช้ยานี้ในยุโรปเมื่อปี ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) และในปีถัดมาจึงได้รับอนุญาตให้นำมาใช้รักษาภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงกับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการฟอกไต/การล้างไต และในต่างประเทศจะมีการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Parsabiv

อีเทลแคลไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีเทลแคลไซด์

ยาอีเทลแคลไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • บำบัดภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงแบบทุติยภูมิในผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต (Secondary hyperparathyroidism in dialyzed patients) ในทางคลินิกยังไม่มีการศึกษาประสิทธิผลของยานี้กับผู้ป่วยภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงที่ไม่ต้องรับการฟอกไต และในผู้ป่วยมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์ จึงไม่มีสรรพคุณการรักษาระบุไว้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

อีเทลแคลไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีเทลแคลไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่ชื่อ Calcium-sensing receptor(ตัวรับที่มีหน้าที่ตรวจระดับแคลเซียมในเลือด)บนผิวเซลล์ของต่อมพาราไทรอยด์ ก่อให้เกิดสัญญาณกระตุ้นให้เซลล์ต่อมพาราไทรอยด์ระงับการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมน จึงทำให้พาราไทรอยด์ฮอร์โมนกลับสู่ภาวะปกติตามสรรพคุณ

อีเทลแคลไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีเทลแคลไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Etelcalcetide ขนาด 2.5มิลลิกรัม/0.5 มิลลิลิตรม, 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร, และ 10 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

อีเทลแคลไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีเทลแคลไซด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์ การฉีดยาให้ผู้ป่วยต้องกระทำหลังจากการฟอกไต ขนาดการใช้ยาต่ำที่สุดอยู่ที่ 2.5 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์ ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 15 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัย และขนาดของการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • การเพิ่มขนาดการใช้ยานี้ ขึ้นกับระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนและระดับแคลเซียในเลือด และผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยาตรงตามกำหนด
  • ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจเลือดตามแพทย์สั่งเพื่อดู ระดับแคลเซียมในเลือดหลังจากเริ่มใช้ยานี้ในสัปดาห์แรก หรือหลังจากมีการปรับขนาดการใช้ยา จากนั้นแพทย์จะตรวจระดับแคลเซียมทุกๆประมาณ 4 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยต้องรับการตรวจระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดตามแพทย์สั่ง หลังจากเริ่มใช้ยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ หรือหลังจากแพทย์ปรับขนาดการใช้ยา หรือตามที่แพทย์นัดหมาย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยา อีเทลแคลไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีเทลแคลไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับการฉีดยาอีเทลแคลไซด์ 1 ครั้ง ให้ฉีดยากับผู้ป่วยเมื่อมารับการฉีดยาในครั้งถัดไปในขนาดปกติ ห้ามเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2เท่า กรณีไม่มารับการฉีดยาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยต้องนัดหมายกับแพทย์ เพื่อเริ่มต้นการฉีดยาใหม่ โดยใช้ ขนาดยาในการเริ่มต้นใหม่ที่ 5 มิลลิกรัม หรือ 2.5 มิลลิกรัม โดยเป็นไปตามประวัติ การใช้ยาของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

อีเทลแคลไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับยาอีเทลแคลไซด์ มีดังนี้ เช่น

  • มีแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ตลอดจนกระทั่งเกิดอาการชักกระตุก
  • เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทราบถึงสัญญาณเตือนที่ทำให้ทราบว่า หัวใจเริ่มทำงานผิดปกติ และระหว่างที่ได้รับยานี้ ผู้ป่วยควรตรวจวัดความดันโลหิตขณะอยู่ในที่พักอาศัยเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจพบไม่มากนัก กลุ่มผู้ป่วยที่มี อาการดังต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารสูง เช่น ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ป่วยด้วยกระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง
  • อาจเกิดภาวะกระดูกพรุน กรณีนี้แพทย์อาจปรับแนวทางการรักษาโดยให้ Vitamin D กับผู้ป่วย และ/หรือ ลดขนาดการใช้ยาอีเทลแคลไซด์ หรือ ถึงขั้น หยุดการใช้ยาไปเลย

มีข้อควรระวังการใช้อีเทลแคลไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีเทลแคลไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอีเทลแคลไซด์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องรับการตรวจควบคุมระดับ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และ ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในกระแสเลือด ตามแพทย์สั่ง เพื่อแพทย์ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินประสิทธิผลของยาชนิดนี้/ยานี้
  • ระวังการเกิดภาวะลมชัก
  • กรณีพบว่ามีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร สังเกตจากมีอุจจาระสีคล้ำ/เหมือนยางมะตอย ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีเทลแคลไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีเทลแคลไซด์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีเทลแคลไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอีเทลแคลไซด์ ร่วมกับยาCinacalcet เพราะจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำเกินไป หากจำเป็นต้องใช้ยาอีเทลแคลไซด์ ต้องหยุดใช้ยาCinacalcet 7 วันเป็นอย่างต่ำจึงหันมาใช้ยาอีเทลแคลไซด์ได้
  • มียาหลายรายการเมื่อใช้ร่วมกับยาอีเทลแคลไซด์จะก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เช่นยา Pentamidine, Risedronate, Tiludronate, Torsemide, Calcitonin, Furosemide หากจำเป็นต้องใช้ยาอีเทลแคลไซด์ร่วมกับยาดังกล่าว แพทย์ ผู้ป่วย ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดมิให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

ควรเก็บรักษาอีเทลแคลไซด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอีเทลแคลไซด์ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น กรณีนำยาออกจากตู้เย็น สมารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 7 วัน, หากนำยาออกจากกล่องหรือออกจากภาชนะบรรจุ ต้องใช้ยาภายใน 4 ชั่วโมง, เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว

อีเทลแคลไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีเทลแคลไซด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Parsabiv (พาร์ซาบิป)Amgen

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/208325Orig1s000Lbledt.pdf [2018,June2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Etelcalcetide [2018,June2]
  3. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperparathyroidism/symptoms-causes/syc-20356194 [2018,June2]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/etelcalcetide.html#C [2018,June2]