อีเซนาไทด์ (Exenatide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีเซนาไทด์(Exenatide)เป็นยาในกลุ่มอินเครติน มิเมติกส์ (Incretin mimetics หรือ GLP-1 analogues) ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่2 รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาฉีด ปกติใช้ฉีดใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง ต้นขา หรือต้นแขน ประมาณ 60 นาทีก่อนอาหาร เช้า-เย็น เป็นเวลาต่อเนื่อง 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน(ฮอร์โมนเพิ่มการใช้น้ำตาลของร่างกาย)จากตับอ่อน แต่ขณะเดียวกัน ก็กดการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน(Glucagon)ที่เป็นฮอร์โมนจากตับอ่อนเช่นกัน แต่ทำงานตรงข้ามกับฮอร์โมนอินซูลิน คือช่วยให้เกิดการเพิ่มของน้ำตาลในเลือด โดยการออกฤทธิ์ของยานี้มีความสัมพันธ์กับมื้ออาหารที่รับประทาน นอกจากนี้ ยานี้ยังทำให้ความรู้สึกอยากอาหารของผู้ป่วยน้อยลงไปอีกด้วย เคยมีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นเวลา 2.25 ปี พบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากผลการทดสอบทางคลินิก พบว่าการใช้ยานี้ร่วมกับยา Metformin หรือร่วมกับยาในกลุ่ม Sulfonylurea จะส่งผลดีเพิ่มขึ้นต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดการใช้ยานี้ที่ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • ต้องไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอีเซนาไทด์
  • ยานี้ไม่เหมาะสมในการใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะกรดในกระแสเลือด/เลือดเป็นกรด หรือที่เรียกกันว่า Diabetes ketoacidosis
  • ผู้ป่วยต้องไม่ใช่ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร-ลำไส้/โรคระบบทางเดินอาหารในระดับรุนแรง
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยาอีเซนาไทด์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาต่างๆในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง แพทย์อาจแจ้งข้อมูลของการใช้ยาอีเซนาไทด์บางประการให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อลดความรู้สึกกังวล และทำให้มีความเข้าใจในการใช้ยาชนิดนี้ได้มากขึ้น อาทิเช่น ขนาดและความถี่ของการใช้ยานี้ ผลข้างเคียงของยานี้ที่อาจพบได้ เช่น มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหารจนเป็นเหตุให้น้ำหนักตัวลด ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงกรณีที่มีอาการแพ้ยานี้ ที่ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

อีเซนาไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีเซนาไทด์

ยาอีเซนาไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes)

อีเซนาไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีเซนาไทด์คือ ตัวยาจะไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือด นอกจากนี้ ยังยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และยังทำให้การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ช้าลง ส่งผลให้ชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จากกลไกที่กล่าวมา ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

อีเซนาไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีเซนาไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น 2ชนิด คือ ชนิดออกฤทธิ์ทันที(Immediate-release)ซึ่งเป็นยาที่ใช้กรณีโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ทั่วไป และชนิดออกฤทธิ์ปลดปล่อยตัวยาทีละน้อย(Extended-release)ซึ่งใช้ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 เฉพาะกรณีๆไป

ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะยาอีเซนาไทด์ชนิดออกฤทธิ์ทันที ซึ่งมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาฉีดชนิดอุปกรณ์การฉีดเป็นปากกา หรือที่เรียกว่า Pre-filled pen ขนาด 5 ไมโครกรัม/ 0.02 มิลลิลิตร และขนาด 10 ไมโครกรัม/ 0.04 มิลลิลิตร

อีเซนาไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาอีเซนาไทด์เฉพาะชนิดที่ออกฤทธิ์ทันทีเท่านั้น เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 5 ไมโครกรัมเข้าใต้ผิวหนัง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง เช้า-เย็น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ทั้งนี้ แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาเพิ่มเป็น 10 ไมโครกรัม เช้า-เย็น โดยการ พิจารณาจากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้

*อนึ่ง

ห้ามฉีดยานี้หลังการรับประทานอาหาร

ห้ามใช้ยานี้ในขนาดที่มาก และนานเกินกว่าคำสั่งแพทย์

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนด้านขนาดยา และการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอีเซนาไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไตระยะรุนแรง โรคระบบทางเดินอาหารที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา อะไรอยู่ เพราะยาอีเซนาไทด์อาจจะส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

ยาอีเซนาไทด์เป็นยารักษาโรคเบาหวานที่มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์ทันทีและแบบ/ชนิดปลดปล่อยตัวยาทีละน้อย เพื่อป้องกันความสับสนกรณีที่ลืมฉีดยา ผู้ป่วยควรขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเมื่อลืมฉีดยาดังกล่าว

อีเซนาไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีเซนาไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวลด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ปวดท้อง มีภาวะกรดไหลย้อน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน

หมายเหตุ: การใช้ยานี้กับหนูทดลองที่ได้รับยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานพบว่า ยานี้ทำให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ของหนูได้ ส่วนการใช้ยานี้กับมนุษย์ในปริมาณมาก และต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะก่อให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้ หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวหรือตัวผู้ป่วยมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์โดยเฉพาะชนิด Medullary thyroid carcinoma หรือป่วยด้วยอาการของโรคเนื้องอกชนิดที่มีสาเหตุทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Multiple endocrine neoplasia (MEN) II

มีข้อควรระวังการใช้อีเซนาไทด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีเซนาไทด์ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1
  • ห้ามใช้เป็นยาทดแทนยาอินซูลิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตในระยะสุดท้าย
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • เรียนรู้วิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องจาก แพทย์ พยาบาล และ/หรือเภสัชกร ก่อนนำกลับมาใช้ที่บ้าน
  • ระวังการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และควรเรียนรู้แนวทางปฏิบัติการดูแลตนเอง ในเบื้องต้นเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องคอยประเมินอาการของตับอ่อนว่ามีการอักเสบหรือไม่ ตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ซึ่งถ้าพบมีอาการผิดปกติ ต้องรีบมาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันนัด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตับอ่อนอักเสบ)
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีเซนาไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีเซนาไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีเซนาไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีเซนาไทด์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด ด้วยอาจส่งผลลดการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยาเม็ดคุมกำเนิดลง
  • ห้ามใช้ยาอีเซนาไทด์ร่วมกับการดื่มสุรา ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีเซนาไทด์ร่วมกับยา Warfarin ด้วยอาจจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย

ควรเก็บรักษาอีเซนาไทด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอีเซนาไทด์ภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อีเซนาไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีเซนาไทด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Byetta (ไบเอตตา)Eli Lilly

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Bydureon

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/exenatide.html [2016,Oct8]
  2. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/021773s9s11s18s22s25lbl.pdf [2016,Oct8]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Exenatide [2016,Oct8]
  4. https://www.drugs.com/dosage/exenatide.html [2016,Oct8]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/exenatide.html [2016,Oct8]