อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม (Edetate calcium disodium)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม (Edetate calcium disodium) คือ ยาใช้แก้พิษของโลหะหนัก เช่น ปรอท ในทางยาอาจเรียกยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมในชื่ออื่นได้อีกคือ “แคลเซียมอีดีทีเอ (Calcium EDTA)” รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดซึ่งมีใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น วัตถุประสงค์ของการใช้ยานี้เพื่อกำจัดสารพิษประเภทโลหะหนักออกจากเลือด

อนึ่ง:  ชื่ออื่นของยานี้ เช่น Sodium calcium edentate ซึ่งยานี้จัดเป็นสารคีเลต(Chelating agent) คือ สารที่สามารถจับกับแร่ธาตุโลหะบางชนิดได้

อย่างไรก็ตาม สารอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมก็มีพิษในตัวมันเองเช่นกัน หากใช้ไม่ถูก ต้องหรือการใช้กับผู้ป่วยที่มีอวัยวะบางส่วนเช่น ไต - ตับ รวมถึงระบบขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติและไม่สมบูรณ์ย่อมก่อให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยได้เช่นกัน เคยมีการทดสอบใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ผลปรากฏว่าไม่เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างไร แต่การใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยต่อทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาอย่างแน่ชัด

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมนั้น แพทย์จะคอยตรวจสอบว่าไตยังสามารถทำหน้าที่ขับปัสสาวะเพื่อกำจัดยาชนิดนี้ได้อยู่หรือไม่ แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากขึ้นระหว่างการใช้ยานี้เพื่อให้ไตทำหน้าที่ขับปัสสาวะได้ดียิ่งขึ้น

หากพิจารณาด้านการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายคนเรา การศึกษาพบว่ายาอีดีเทตแคล เซียมไดโซเดียมถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อย แต่กลับดูดซึมได้ดีจากการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดใต้ผิวหนัง เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีแต่อย่างใด และหากเป็นการหยดเข้าหลอดเลือดโดยตรงร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 20 - 60 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด แต่ถ้าฉีดเข้ากล้ามเนื้อร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดยานี้นานขึ้นเป็น 1.5 ชั่วโมงโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม

ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการของผู้ที่ได้รับพิษจากโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว  สังกะสี และแมงกานีส  

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกายโดยยอมให้โลหะหนักเหล่านั้นเข้ามาแทนที่เกลือแคลเซียมของตัวยาจนได้สารประ กอบใหม่ ซึ่งถูกขับออกมากับปัสสาวะ

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำที่เป็นรูปแบบสารละลาย ขนาด 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา:

ก.ผู้ใหญ่: เช่น

  • กรณียังไม่แสดงอาการพิษของตะกั่วออกมาทางร่างกาย: เช่น หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 กรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) 1 ตารางเมตร/วัน โดยแบ่งการให้ยาทุกๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 - 5 วัน หากจำเป็นแพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำโดยเว้นระยะเวลาห่างจากการได้รับยาวันสุดท้ายแล้วประมาณ 2 วัน
  • กรณีแสดงอาการพิษของตะกั่วออกมาทางร่างกาย: เช่น เริ่มต้นฉีดยานำก่อนคือ ยา Dimercaprol (ยาอีกชนิดที่ทำหน้าที่แก้พิษสารโลหะหนัก) 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ให้ยา Dimercaprol ซ้ำทุกๆ 4 ชั่วโมง (ขณะที่มีการให้ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม) จากนั้นหยดยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมเข้าหลอดเลือดดำโดยคำนวณขนาดการให้ยา 1 - 1.5 กรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน โดยแบ่งการให้ยาทุกๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วัน หากจำเป็นแพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำโดยเว้นระยะเวลาจากการได้รับยาวันสุดท้ายแล้ว 2 วัน

ข.เด็ก:           

  • กรณียังไม่แสดงอาการพิษของตะกั่วออกมาทางร่างกาย: เช่น หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยา 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน
  • กรณีแสดงอาการพิษของตะกั่วออกมาทางร่างกาย: เช่น ใช้ยาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยใช้ยา Dimercaprol ร่วมกับยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม         

          อนึ่ง: อัตราความเร็วในการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำให้ดูตามเอกสารกำกับยา/ฉลากยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ และการใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

มีข้อควรระวังการใช้อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมเช่น    

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • หลังใช้ยานี้ไปแล้วครั้งแรกหากพบอาการคล้ายกับอาการไตเป็นพิษ (อาการของโรคไต)ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที
  • จะต้องมีรายงานเกี่ยวกับการขับปัสสาวะ/ปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วยให้กับแพทย์ทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • แพทย์จะคอยตรวจสอบระดับโลหะหนักในกระแสเลือดว่าลดลงหรือไม่ เช่น ตรวจเลือดทดสอบในวันที่ 2 และ 5 ของการรักษาเป็นต้นไป เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น         

  • การใช้ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม ร่วมกับยา Ceftriaxone อาจทำให้เกิดการตก ตะกอนของยาในปอดหรือในไตโดยเฉพาะกับทารกแรกเกิด เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวควรเว้นการใช้ยาให้ห่างกัน 2 วันเป็นอย่างต่ำ
  • การใช้ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม ร่วมกับยา Amlodipine, Diltiazem, Felodipine (ยาลดความดัน), Verapamil อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของกลุ่มยาดังกล่าวด้อยลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมอย่างไร?

ควรเก็บยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
CALCIUM DISODIUM VERSENATE (แคลเซียม ไดโซเดียม เวอเซเนต) MEDICIS

 

บรรณานุกรม

  1. http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0233/chelating-agent-%20%20%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%95   [2021,Nov13]
  2. https://www.drugs.com/mtm/edetate-calcium-disodium.html  [2021,Nov13]
  3. https://www.everydayhealth.com/drugs/edetate-calcium-disodium  [2021,Nov13]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/sodium%20calcium%20edetate%20injection%2020percent  [2021,Nov13]
  5. https://www.mims.com/India/drug/info/sodium%20calcium%20edetate/sodium%20calcium%20edetate?type=full&mtype=generic   [2021,Nov13]
  6. https://www.drugs.com/availability/generic-calcium-disodium-versenate.html  [2021,Nov13]
  7. https://reference.medscape.com/drug/calcium-disodium-versenate-edetate-calcium-disodium-343729  [2021,Nov13]