อิโพยอิติน เบต้า (Epoetin beta)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอิโพยอิติน เบต้า (Epoetin beta) หรือมีชื่อการค้าว่า (Recormon®) เป็นหนึ่งในยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ (Erythropoiesis stimulating agent หรือ ESA) ที่รวมถึงในยากลุ่มรีคอมบิแนนท์ ฮิวแมน อิลิโทรโพยอิติน (Recombinant Human Erythropoietin หรือ rEPO) ซึ่งมีข้อบ่งใช้ของยาเพื่อรักษาภาวะโลหิตจาง ที่มีสาเหตุจากภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง/โรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากยาเคมีบำบัด

วิธีการผลิตยาอิโพยอิติน เบต้า ทำโดยกระบวนการตัดต่อยีนส์/จีน/Gene (Recombinant DNA technology) โดยสังเคราะห์ขึ้นจากการตัดต่อทางพันธุกรรมผ่านเซลล์รังไข่ของหนูทดลอง(Chinese hamster) เพื่อให้ได้ยาที่มีลักษณะทางภูมิคุ้มกันและทางชีววิทยาที่ไม่แตกต่างจากฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน(Erythreopoietin)จากไต

ยาอิโพยอิติน เบต้าเป็นยาชนิดหนึ่งในกลุ่มยา รีคอมบิแนนท์ ฮิวแมน อิลิโทรโพยอิติน(Recombinant Human Erythropoietin หรือ rEPO ซึ่งมียา 2 ชนิด คือ Epoetin alfa/อิโพยอิติน อัลฟา และ Epoetin Beta ) โดยยาอิโพยอิติน เบต้า แตกต่างจากยาอิโพยอิติน อัลฟ่า ในแง่การสังเคราะห์โครงสร้างยา โดยมีการเติมน้ำตาลเข้าในโครงสร้างสารโปรตีนในตัวยาที่แตกต่างกัน แต่ลำดับของกรดอะมิโนมีจำนวน 165 ตัวเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ไม่พบความแตกต่างต่อผลการรักษาทางคลินิกระหว่างยาทั้ง2 ตัวยา

อนึ่ง ยาอิโพยอิติน เบต้าได้รับการรับรองให้มีใช้ในสหภาพยุโรป แต่ไม่มีใช้ในสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทย มียาอิโพยอิติน เบต้าจำหน่ายภายในประเทศ

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อิโพยอิตินเบต้า

ยาอิโพยอิติน เบต้าใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคไตวายเรื้อรังที่รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไต/การล้างไตและผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฟอกไต และในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากยาเคมีบำบัด

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอิโพยอิติน เบต้าเป็นยาในกลุ่ม ESA ที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน (Erythropoietin hormone, EPO)ที่เป็นฮอร์โมนจากไตที่มีโครงสร้างเป็นสารไกลโคโปรตีน(Glycoprotein)ที่มีหน้าที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งยานี้จะกระตุ้นการแบ่งตัวและการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูกให้ไปเป็นเม็ดเลือดแดง

ดังนั้นเมื่อยาอิโพยอิติน เบต้าเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะจับกับตัวรับ(Receptor)ของฮอร์โมนอีลิโทรโพยอิตินที่ผิวของเซลล์ตั้งต้นเม็ดเลือดแดง และจะกระตุ้นการส่งสัญญาณในเซลล์ฯ ซึ่งมีผลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและการเจริญของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแดง เพื่อพัฒนาเป็นเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องอาศัยธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12 ร่วมด้วยในกระบวนการนี้ โดยผู้ป่วยที่มีค่าเฟอริติน(Ferritin,คือสารโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวเก็บธาตุเหล็ก)ในเลือดต่ำกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือมีค่าความอิ่มตัวของสารทรานเฟอริน(Transferrin, คือสารโปรตีนชนิดGlycoproteinในพลาสมา/น้ำเลือด/Plasmaที่รวมตัวอยู่กับธาตุเหล็ก)ในเลือดต่ำกว่า 20 เปอร์เซนต์ ควรได้รับการรักษาด้วยการเสริมธาตุเหล็กร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเม็ดเลือดแดงจะถูกสร้างขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรประเมินสถาวะของธาตุเหล็กในผู้ป่วยทุกคนทั้งก่อนและระหว่างการรักษาด้วยยาอิโพยอิติน เบต้า

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอิโพยอิติน เบต้าที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอดฉีดยาสำเร็จรูปที่พร้อมใช้งาน/บริหารยาแก่ผู้ป่วย (Pre-filled syringe) ขนาดยาที่มีจำหน่ายต่อหนึ่งหลอดฉีดยา มีดังนี้ 2,000, 3,000, 5,000, 10,000, 30,000 ยูนิต

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีวิธีใช้ยาอย่างไร?

อิโพยอิติน เบต้าเป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจาง ที่มีสาเหตุจากโรคไตเรื้อรัง หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่ยับยั้งการทำงานของไขกระดูก ประโยชน์จากการใช้ยาอิโพยอิติน เบต้าจะสามารถลดการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือการเสียชีวิตจากภาวะโลหิตจาง

โดยทั่วไป แนะนำให้เริ่มใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไต หรือผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากยาเคมีบำบัดโดยมีระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10 กรัมต่อเดซิลิตร และหยุดให้ยานี้เมื่อระดับฮีโมโกลบินสูงกว่า 11 กรัมต่อเดซิลิตร หรือหยุดยานี้เมื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัดครบตามแผนการรักษา โดยมีขนาดยานี้ ดังนี้ เช่น

ก. บริหารยาอิโพยอิติน-เบต้า ทางหลอดเลือดดำ (Intravenous, IV): ด้วยขนาดยา 120 - 180 ยูนิต/unit/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/สัปดาห์ แบ่งให้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ควรฉีดอย่างช้าๆ ประมาณ 1-5 นาทีขึ้นกับขนาดของยาที่ได้รับ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือด/ล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม สามารถให้ยานี้เข้าในเส้นเลือด/หลอดเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือดได้โดยให้ไปในระหว่างการฟอกเลือดได้เลย

ข. บริหารยาอิลิโทรโพยอิติน-เบต้า ทางใต้ผิวหนัง (Subcutaneous, SC): ด้วยขนาดยา 80 - 120 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/สัปดาห์ แบ่งให้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ปริมาตรที่มากที่สุดสำหรับการฉีดยาแต่ละครั้งคือ 1 มิลลิลิตร ถ้าต้องให้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่านี้ ให้พิจารณาฉีดในตำแหน่งอื่นเพิ่ม ตำแหน่งที่ใช้ในการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือผนังหน้าท้อง โดยฉีดให้ห่างจากสะดือ และฉีดสลับตำแหน่งไปในแต่ละครั้ง โดยตำแหน่งดังที่กล่าวมามีความเท่าเทียมกันสำหรับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง

อนึ่ง หลังการใช้ยานี้ การตรวจติดตามระดับฮีโมโกลบิน ควรติดตามทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่งระดับฮีโมโกลบินอยู่ตัว และตรวจติดตามเป็นระยะหลังจากนั้นตามดุลพินิจของแพทย์

ง. การปรับขนาดยาอิโพยอิติน เบต้าภายหลังที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์:

1 ถ้าระดับฮีโมโกลบิน เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ใน 4 สัปดาห์ ให้ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น 25%

2 ถ้าระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ใน 2 สัปดาห์ ให้ปรับลดขนาดยาลง 25%

3 หากระดับฮีโมโกลบินอยู่ในช่วงเป้าหมายแล้ว อาจพิจารณาให้ยาทุก 4 สัปดาห์ โดยเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าของขนาดเดิมที่ได้รับทุก 2 สัปดาห์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาอิโพยอิติน เบต้า ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอิโพยอิติน เบต้า ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

1. ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมี ทุกชนิด

2. โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิโพยอิติน เบต้า อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ก่อนแล้ว

3. ประวัติการใช้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินบางชนิด อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอิโพยอิติน เบต้า

4. หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่

หากลืมได้รับยาอิโพยอิติน เบต้าควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาอิโพยอิติน เบต้าตามตารางการได้รับยาที่กำหนด ผู้ป่วยต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันทีที่นึกได้ เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยานี้เพื่อประสิทธิภาพของผลการรักษาด้วยอิโพยอิติน เบต้า

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สามารถศึกษา ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยาของยาอิโพยอิติน เบต้าได้จากหัวข้อ “ อาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์” จากบทความเรื่อง “อิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์(Erythropoiesis stimulating agent)” ในเว็บ haamor.com

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโพยอิติน เบต้า อย่างไร?

สามารถศึกษาข้อควรระวังการใช้ยาอิโพยอิติน เบต้าได้จากหัวข้อ “ ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ จากบทความเรื่อง “อิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์(Erythropoiesis stimulating agent)” ในเว็บ haamor.com

อนึ่ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาอิโพยอิติน เบต้าในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากในทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่พบว่า ยาอิโพยอิติน เบต้า เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาอิโพยอิติน เบต้าอย่างไร?

แนะนำเก็บยาอิโพยอิติน เบต้าในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงสว่าง/แสงแดด ห้ามแช่ยานี้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ระวังวิธีการขนส่งยานี้ โดยขนส่งด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรเขย่าหรือทำให้สารละลายยากระทบกระเทือน และควรคงความเย็นแก่ยากลุ่มนี้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ก่อนการฉีดยานี้ ควรนำหลอดยาออกมาวางไว้จนยามีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที

ยาอิโพยอิติน เบต้ามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิโพยอิติน เบต้า มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Recormon® Roche

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Epogin , Neo recormon

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc; 2015-16.[2017,Sept9]
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado[2017,Sept9]
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013[2017,Sept9]
  4. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. ภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไต http://www.kidneythai.org/pdf/SRY%2043153%2023-9%20PC2%20DAO_91-94.pdf[2017,Sept9]
  5. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Anemia Work Group. KDIGO clinical practice guideline for anemia in chronic kidney disease. Kidney Inter Suppl 2012;2:279–335.[2017,Sept9]
  6. Henry Cohen. Casebook in clinical pharmacokinetic and drug dosing. USA: McGraw-Hill; 2015[2017,Sept9]