อิพิลิมูแมบ (Ipilimumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอิพิลิมูแมบ(Ipilimumab) เป็นยาในกลุ่มMonoclonal Antibodies มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายโดยมีเม็ดเลือดขาว ชนิด T Lymphocytes ที่เรียกว่า Cytotoxis T Lymphocytes หรือจะเขียนย่อๆว่า CTLs เป็นองค์ประกอบสำคัญ เม็ดเลือดขาวชนิดนี้ทำหน้าที่คอย ทำลายเซลล์มะเร็ง กรณีที่มีปัจจัยหรือสัญญาณอะไรก็ตามที่ยับยั้งการทำงานของ CLTs ก็จะทำให้เซลล์มะเร็งมีการขยายตัวและเจริญเติบโตลุกลาม สำหรับยาอิพิลิมูแมบ ได้ถูกนำมาใช้บำบัดรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง ชนิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา(Melanona)ที่ไม่สามารถรักษาโดยวิธีการผ่าตัด นอกจากนี้ยังใช้ป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของมะเร็งผิวหนังนี้ หรือป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งนี้ยังอวัยวะต่างๆอีกด้วย

ยาอิพิลิมูแมบได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) และมีจัดจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า “Yervoy” รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอิพิลิมูแมบเป็นยาฉีด โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาอิพิลิมูแมบสูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง โดยเว้นระยะเวลาการให้ยานี้แต่ละครั้งทุกๆ 3 สัปดาห์

ยาอิพิลิมูแมบ สามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้ ผู้ป่วยยังต้องมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นระยะๆเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา กรณีพบเห็นอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ก็สามารถบ่งบอกถึงพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาอิพิลิมูแมบต่ออวัยวะภายในร่างกายได้แล้ว เช่น

1. ความผิดปกติที่เกิดกับ ตับ/ตับอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะมีสีคล้ำ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ปวดท้อง อุจจาระมีสีซีดจาง ตัวเหลืองตาเหลือง หรือ

2. มีความผิดปกติอื่นๆต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระมีสีคล้ำคล้ายมีเลือดปน มีไข้ อุจจาระเป็นเมือก อาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย

3. ความผิดปกติต่อระบบฮอร์โมนต่างๆของร่างกาย เช่น มีอาการรู้สึกหนาวเย็นตลอดเวลา เกิดความเฉื่อยชาเหงาหงอย อารมณ์ทางเพศถดถอย ความจำแย่ลง อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะรุนแรง และน้ำหนักตัวเพิ่ม

4. ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น เกิดภาวะ Steven-Johnson syndrome ผิวหนังแดง ผิวหนังลอก ระคายเคืองบริเวณตา เกิดแผลใน ช่องปาก-คอ-จมูก

5. ความผิดปกติต่อระบบประสาท เช่น รู้สึกแสบร้อนร่างกาย ตัวชาหรือเป็นเหน็บ อ่อนเพลีย การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ลำบากคล้ายเป็นอัมพาต

ซึ่งหากพบเห็นอาการดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นข้อใดก็ตาม ควรรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาให้เหมาะสม

ทางคลินิก ยังมีการศึกษาการใช้ยาอิพิลิมูแมบเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด ซึ่งยังต้องรอผลยืนยันประสิทธิภาพการรักษามะเร็งเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้

การใช้ยารักษามะเร็งไม่ว่าชนิดใดๆก็ตามรวมถึงยาอิพิลิมูแมบ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร จะอธิบายรายละเอียดของการใช้ยา อย่างเช่น ประโยชน์ของตัวยา ผลข้างเคียง ตลอดจนกระทั่งการดูแลตนเองระหว่างที่ได้รับยารักษามะเร็งนั้นๆ ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือกับแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร โดยมารับการให้ยาตามนัดหมาย มีความคิดบวก และเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

ยาอิพิลิมูแมบเป็นยารักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมาอีกหนึ่งทางเลือกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาชนิดนี้ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จาก แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ผู้ที่ทำการดูแลรักษา หรือสอบถามจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้

อิพิลิมูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อิพิลิมูแมบ

ยาอิพิลิมูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการมะเร็งของผิวหนังเมลาโนมาที่ไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัด
  • ใช้เป็นยาเสริมการรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

อิพิลิมูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

T Lymphocytes เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ ด้วยกลไกบางอย่างของระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้ T Lymphocytes เล่นงานเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่จะไม่ทำอันตรายกับเซลล์ปกติของร่างกาย กลไกดังกล่าวเป็นผลจาก T Lymphocytesได้รับสัญญาณให้เข้าทำลายเซลล์มะเร็งจากเซลล์ที่ช่วยแปรหรือส่งสัญญาณที่มีชื่อว่า Antigen-presenting cells/APC (หรือมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Dendritic cells) การแปรสัญญาณของ APC ต่อ T Lymphocytes จะทำให้มีการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี กรณีที่เกิดความผิดปกติทำให้ APC เข้าแปรสัญญาณต่อT Lymphocytes ผิดไปจากเดิม กล่าวคือ การเชื่อมต่อของ T Lymphocytes กับ APC เข้ากันผิดตำแหน่ง จะทำให้ T Lymphocytes หมดความสามารถจดจำเซลล์มะเร็ง และหยุดเล่นงานเซลล์มะเร็งดังกล่าว เราเรียกความผิดปกติของ T Lymphocytes ในลักษณะนี้ว่า Cytotoxis T Lymphocyte-associated antigen 4 หรือ CTLA-4 ซึ่งยาอิพิลิมูแมบจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ CTLA-4 โดยทำให้การเชื่อมต่อของ APC และT Lymphocytes กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นปกติเหมือนเดิมและเกิดการส่งสัญญาณอย่างถูกต้อง เป็นผลให้ T Lymphocytes สามารถเล่นงานเซลล์มะเร็งได้เหมือนเดิม

อิพิลิมูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอิพิลิมูแมบ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่บรรจุตัวยา Ipilimumab ขนาด 50 และ 200 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)

อิพิลิมูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอิพิลิมูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับยับยั้งมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่ไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัด (Unresectable or Metastatic melanoma) เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้ระยะเวลาการให้ยาผู้ป่วยแต่ละครั้งนานมากกว่า 90 นาทีขึ้นไป ผู้ป่วยอาจได้รับยาสูงสุดถึง 4 ครั้ง การให้ยาแต่ละครั้งให้เว้นระยะเวลาทุกๆ 3 สัปดาห์ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องรับยาจนครบเทอมของการรักษาอาจปรับเปลี่ยนเป็น 16 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถในการทนพิษหรืออาการข้างเคียงที่เกิดกับผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล

ข. สำหรับเป็นยาเสริมการรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมาหลังการผ่าตัด(Adjuvant treatment of melanoma)

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดฯขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาให้ยานานมากกว่า 90 นาทีขึ้นไป ทุกๆ 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องได้รับยา 4 ครั้ง จึงถือว่าครบเทอมของการรักษา และแพทย์อาจจะให้ยาต่อที่ขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 12 สัปดาห์ เป็นเวลาถึง 3 ปี

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยควรมารับการให้ยาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • กรณีที่ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยานี้จนส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอิพิลิมูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิพิลิมูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา อื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

ยาอิพิลิมูแมบต้องใช้ต่อเนื่องกัน 4 ครั้ง แต่ละครั้งให้เว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 3–4 สัปดาห์ซึ่งขึ้นกับอาการของผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมารับการให้ยานี้ครั้งใดก็ตาม ควรรีบติดต่อ แพทย์/พยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับการให้ยานี้ทดแทนโดยเร็ว หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะหยุดการรักษาโดยยานี้ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ให้การรักษาเสมอ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ตามความเหมาะสม

อิพิลิมูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอิพิลิมูแมบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อแคนดิดา/การติดเชื้อราในช่องปาก มีอาการเนื้อเยื่อต่างๆอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และ ส่วนล่าง มีอาการไอ หายใจมีเสียงวี๊ด คัด/แน่นจมูก หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น สมองบวม วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน ปวดท้อง คลื่นไส้ กรดไหลย้อน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ใบหน้าแดง หลอดเลือดอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผมร่วง ผิวแห้ง ลมพิษ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ บิลิรูบินในเลือดสูง ตับวาย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง(Eosinophilia) เม็ดเลือดขาวต่ำ(Leucopenia) เกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia)
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาการกล้ามเนื้ออักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตล้มเหลว กรวยไตอักเสบ มีโปรตีนออกมากับปัสสาวะ/มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง โปแตสเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ อัลบูมิน(Albumin)ในเลือดต่ำ ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ ปวดตา ตาแห้ง
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า รู้สึกสับสน อารมณ์ทางเพศถดถอย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมใต้สมองทำงานน้อยลง ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือไม่ก็ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดมีระดับผิดปกติ
  • อื่นๆ: เช่น ประจำเดือนขาดในสตรี

มีข้อควรระวังการใช้อิพิลิมูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิพิลิมูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • การใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากพบอาการข้างเคียงต่างๆจากยานี้ต่อร่างกายจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอิพิลิมูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อิพิลิมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิพิลิมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอิพิลิมูแมบร่วมกับยา Apixaban, Bivalirudin ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยาอิพิลิมูแมบร่วมกับ ยาLeflunomide ด้วยจะสร้างผลกระทบ(พิษ)ต่อการทำงานของตับตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอิพิลิมูแมบร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะอาจทำให้ระบบ ประสาทของผู้ป่วยได้รับความเสียหาย
  • การใช้ยาอิพิลิมูแมบร่วมกับ ยาMethotrexate จะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำงาน ของตับ/เป็นพิษต่อตับได้ง่าย การจะใช้ยาร่วมกันหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ควรเก็บรักษาอิพิลิมูแมบอย่างไร?

ควรเก็บยาอิพิลิมูแมบ ในช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อิพิลิมูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิพิลิมูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Yervoy (เยอร์วอย)Bristol-Myers Squibb

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ipilimumab#Mechanism_of_action [2017,Dec2]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/yervoy [2017,Dec2]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/125377s073lbl.pdf [2017,Dec2]
  4. https://www.drugs.com/mtm/ipilimumab.html [2017,Dec2]
  5. https://www.drugs.com/cdi/ipilimumab.html [2017,Dec2]
  6. https://www.drugs.com/sfx/ipilimumab-side-effects.html [2017,Dec2]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/ipilimumab- index.html?filter=3&generic_only= [2017,Dec2]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/ipilimumab-index.html?filter=2&generic_only= [2017,Dec2]