อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อินเตอร์เฟอรอน (Interferon, IFN) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดเชื้อโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อไวรัส ปัจจุบันมีการนำเอาอินเตอร์เฟอรอนมาใช้เป็นยาเพื่อการรัก ษาโรคไวรัสตับอักเสบ – บี และโรคไวรัสตับอักเสบ – ซี ชนิดเรื้อรัง ซึ่งยาอินเตอร์เฟอรอนมีผลทั้ง ฆ่าไวรัส และควบคุมระดับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยทั้ง 2โรคที่ตอบสนองต่อการรักษามีอุบัติการณ์การเกิดตับวายลดลง การเกิดมะเร็งตับปฐมภูมิ (มะเร็งที่เกิดจากเซลล์อวัยวะนั้นๆไม่ใช่เกิดจากการแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น)ลดลง และมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ยาอินเตอร์เฟอรอนซึ่งมีเฉพาะรูปแบบยาฉีดในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ Conventional Interferon (Conventional IFN), และ Pegylated Interferon (Peg-IFN) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้ออกฤทธิ์ได้นานมากขึ้น โดย

  • ยาฉีดชนิด Conventional IFN จะต้องบริหารยาสัปดาห์ละ 3 ครั้งหรือทุกวัน
  • ส่วนยาฉีด Peg-IFN จะบริหารยาเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีผลข้างเคียงของยาที่ลดลงและมีผลการรักษาที่ดีกว่า จึงทำให้ Peg-IFN เป็นที่นิยมมากกว่า Conventional IFN

ทั้งนี้:

  • ข้อดีของการรักษาด้วย Conventional IFN หรือ PEG-IFN คือ ไม่เกิดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่ดื้อยา
  • ส่วนข้อเสียคือ ยายังมีราคาแพง และที่สำคัญคือ ยามีผลข้างเคียงมาก

อินเตอร์เฟอรอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินเตอร์เฟอรอน

ยาอินเตอร์เฟอรอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ - บีเรื้อรัง (ทั้ง ชนิด HBeAg - positive และ HBeAg - negative)ทั้งกับผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคตับแข็งและผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งที่ตับยังสามารถทำงานชดเชยได้, และ
  • ใช้สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ – ซีเรื้อรังที่อาจใช้อินเตอร์เฟอรอนเป็นยาเดี่ยวในการรักษา หรือใช้คู่กับยาไรบาไวริน (Ribavirin: ยาต้านไวรัส ) ทั้งในผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคตับแข็ง และในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งที่ตับยังสามารถทำงานชดเชยได้

อินเตอร์เฟอรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งไวรัส โดยยาจะจับกับตัวรับที่จำเพาะบนผิวเซลล์ไวรัส แล้วก่อให้เกิดสัญญาณกระตุ้นให้เซลล์ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงยีน/จีน(Gene)ของไวรัสเองอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลทางชีวภาพหลายอย่าง รวมทั้งยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ไวรัส และยังช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

อินเตอร์เฟอรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบจำหน่ายของยาอินเตอร์เฟอรอนในประเทศไทยมี 3 รูปแบบเภสัชภัณฑ์ ได้แก่

  • ยาเตรียมสารละลายปราศจากเชื้อ: สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยบรรจุอยู่ในกระบอกยาพร้อมฉีด (Pre-filled Syringe) สำหรับใช้ครั้งเดียว
  • ยาชนิดปากกาและตัวทำละลาย (น้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับฉีด): สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  • รูปแบบยาผงปราศจากเชื้อบรรจุในขวดแก้ว (Powder for injection): สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

อินเตอร์เฟอรอนมีวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษาด้วยยาอินเตอร์เฟอรอนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ จึงแพทย์จำเป็นต้องมีการปรับขนาดยาตามปัจจัยต่างๆเสมอ โดยพิจารณาลดขนาดยาหรือหยุดยาชั่วคราวในผู้ป่วยบางราย

ปัจจัยที่มีผลต่อขนาดยาอินเตอร์เฟอรอน เช่น

  • ข้อบ่งใช้ของยาเพื่อการรักษา
  • ค่าความสมบูรณ์ของเลือด (ซีบีซี)
  • ค่าการทำงานของไตและของตับ

ก่อนการเริ่มต้นรักษาด้วยอินเตอร์เฟอรอน ผู้ป่วยทุกราย ควรได้รับการตรวจเลือดดูค่าต่างๆ เช่น ซีบีซี, การทำงานของไตและของตับ, การทำงานของต่อมไทรอยด์ และได้รับการตรวจฯซ้ำเป็นระยะๆระหว่างการรับการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ค่าเริ่มต้นก่อนการรับการักษาด้วยอินเตอร์เฟอรอน ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • เกล็ดเลือด ควรมากกว่า/เท่ากับ 100,000 ลูกบาศ์กมิลลิเมตร
  • เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิวล์ (Neutrophil) ควรมากกว่า/เท่ากับ 1,500 ลูกบาศ์กมิลลิเมตร
  • ระดับค่า Thyroid Stimulating Hormone (TSH: ฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ) ต้องอยู่ในระดับปกติ

อนึ่ง แพทย์อาจทำการตรวจค่าต่างๆที่สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของการรักษา หลังจากนั้นตรวจซ้ำเป็นระยะๆในช่วงที่รับการรักษา ทั้งนี้เป็นไปตามตามดุลพินิจของแพทย์

ก. วิธีการบริหารยา/วิธีใช้ยา: เช่น

อินเตอร์เฟอรอนเป็นยาเตรียมสารละลายปราศจากเชื้อสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยบรรจุอยู่ในกระบอกยาพร้อมฉีดสำหรับใช้ครั้งเดียว โดยมีวิธีการใช้ยาพร้อมอุปกรณ์ ดังนี้ เช่น

  • นำอินเตอร์เฟอรอน (ตามรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่ผู้ป่วยได้รับจากแพทย์) ออกจากตู้เย็น
  • เตรียมอุปกรณ์สำหรับฉีดยาให้ครบถ้วนเช่น เข็มฉีดยา, สำลีชุบแอลกอฮอล์, ภาชนะสำหรับบรรจุของมีคม
  • ฉีกบรรจุภัณฑ์อินเตอร์เฟอรอนออก ก่อนใช้ยาฉีดควรตรวจดูสารแปลกปลอมใดๆหรือสียาที่อาจผิดปกติเท่าที่จะสามารถตรวจได้ หากยามีสภาพขุ่น มีฝุ่นหรือผง หรือเปลี่ยนสีไปจากไม่มีสี ให้ทิ้งยาไปเลย ห้ามใช้ยาโดยเด็ดขาด
  • คลึงบรรจุภัณฑ์ของอินเตอร์เฟอรอนในฝ่ามือประมาณ 1 นาทีเพื่อให้ยาเข้ากันดี ห้ามเขย่า เพราะอาจทำให้ยาเกิดฟองได้
  • ฟอกมือด้วยสบู่ จากนั้นล้างน้ำสบู่ออกจนหมดและสะอาด แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษชำระ
  • [หากรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของท่านเป็นยาเตรียมสารละลายปราศจากเชื้อสำหรับฉีดเข้าใต้ผิว หนังโดยบรรจุอยู่ในกระบอกยาพร้อมฉีด (Pre-filled Syringe) สำหรับใช้ครั้งเดียว และยาชนิดปากกาและตัวทำละลาย (น้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับฉีด) สำหรับใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ให้ข้ามข้อ 6 นี้ไป] จากนั้นเปิดฝาปิดจุกขวดยาออก ทำความสะอาดหัวจุกยางด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์พอหมาดๆ จากนั้นดูดยาเข้าสู่กระบอกฉีดยาตามปริมาตรที่กำหนดโดยคว่ำขวดยาลง แล้วจึงค่อยๆ ดึงก้านสูบกระบอกฉีดยาลงจนถึงปริมาตรที่ต้องการ โดยมั่นใจว่าเข็มอยู่ภายใต้ยาที่บรรจุในขวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟองอากาศขึ้นในกระบอกฉีดยา จากนั้นค่อยๆดึงเข็มฉีดยาออกจากขวดยา
  • ปรับปริมาตรภายในกระบอกฉีดยาพร้อมดันฟองอากาศในกระบอกฉีดยาออก
  • เลือกตำแหน่งสำหรับการฉีดยาได้แก่ บริเวณหน้าท้องห่างจากสะดือไปประมาณ 3 นิ้วมือหรือ บริเวณต้นขา หลีกเลี่ยงฉีดบริเวณใกล้รอบสะดือหรือรอบเอว จากนั้นทำความสะอาดบริเวณที่ต้อง การฉีดยาด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ รอจนแอลกอฮอล์แห้ง
  • ดึงหนังหน้าท้องหรือหนังบริเวณต้นขาขึ้นมาด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้เพื่อยกชั้นผิวหนังขึ้น
  • ถือกระบอกฉีดยาพร้อมเข็มในแนว 45 - 90 องศาทำมุมกับหน้าท้องหรือต้นขาบริเวณที่ยก ขึ้นมา
  • ค่อยๆสอดปลายเข็มเข้าสู่ร่างกาย (ใต้ผิวหนัง) จากนั้นค่อยๆดันก้านสูบเพื่อปล่อยอินเตอร์เฟอรอนเข้าสู่ใต้ชั้นผิวหนังจนหมดกระบอก
  • กดบริเวณที่ฉีดยาด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์อีกครั้งนาน 2 – 3 นาที
  • จัดการกับเข็มและกระบอกฉีดยาที่ใช้แล้วตามวิธีการกำจัดกระบอกฉีดยาและอุปกรณ์ที่แหลม คมต่อไป

ข. วิธีการการกำจัดกระบอกฉีดยาและอุปกรณ์ที่แหลมคม: เช่น

ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกร ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่

  • ต้องใช้และกำจัดกระบอกฉีดยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แหลมคมอย่างเคร่งครัดตามคำแนะ นำ
  • ห้ามนำกระบอกฉีดยาและเข็มมาใช้ซ้ำ
  • ทิ้งเข็มและกระบอกฉีดยาที่ใช้แล้วในภาชนะรองรับวัสดุแหลมคม (ภาชนะที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ว่าป้องกันการแทงทะลุได้)
  • เก็บภาชนะดังกล่าวให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หลีกเลี่ยงการทิ้งภาชนะรองรับวัสดุแหลมคมรวมกับขยะทั่วไป
  • กำจัดภาชนะรองรับวัสดุแหลมคมที่เต็มแล้วตามข้อกำหนดของสถานที่หรือตามคำแนะนำของผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ (อ่านในเอกสารกำกับยา)
  • หากจำเป็นต้องใช้ยาที่บ้าน ทางโรงพยาบาลควรมอบอุปกรณ์สำหรับเก็บกำจัดกระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วให้แก่ผู้ป่วย
  • การได้รับยานี้เกินขนาดโดยอุบัติเหตุ: มีรายงานพบว่าการได้รับอินเตอร์เฟอรอนอย่างน้อย 2 ครั้งติดต่อกัน (แทนการใช้ยาสัปดาห์ละครั้ง) จนถึงการใช้ยาทุกวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใดเกิดอาการผิดปกติรุนแรง ทั้งนี้ไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับอิน เตอร์เฟอรอน โดยถ้าเกิดผลข้างเคียงหรือได้รับยาเกินขนาด แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ

*****หมายเหตุ:

  • หากท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ ควรใช้ยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลด หรือปรับขนาดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงที่รุนแรงส่งผลกระ ทบต่อการใช้ชีวิต เกิดขึ้นในช่วงระหว่างกำลังได้รับอินเตอร์เฟอรอน ท่านควรไปพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัดได้เพื่อแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว
  • ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอินเตอร์เฟอรอน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • โรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินเตอร์เฟอรอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • ห้ามใช้อินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบเหตุจากโรคออโตอิมมูน (Autoimmune hepatitis)
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การบริหาร/การฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน โดยทั่วไปแล้วจะบริหารยาเพียงสัปดาห์ละครั้งหรือ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ดังนั้นการบริหารยาจึงควรบริหารยาให้ตรงกันทุกวันของสัปดาห์เช่น ปกติเริ่มฉีดอินเตอร์เฟอรอนครั้งแรกในวันเสาร์ ดังนั้นสัปดาห์ถัดไปก็ควรจะฉีดอินเตอร์เฟอรอนในวันเสาร์เช่นเดิม กรณีลืมฉีดยาและนึกได้ในวันเดียวกันหรือวันถัดไปอีก 1 - 2 วัน (ไม่เกิน 48 ชั่วโมง) ให้ฉีดยาทันทีที่นึกขึ้นได้ และฉีดยาครั้งต่อไปๆตามปกติ

ถ้าหากลืมฉีดยาฯแล้วนึกขึ้นได้หลังจากวันที่กำหนดฉีดยามากกว่า 2 วัน (เช่น นึกได้ว่าลืมฉีดให้ตรงตามวันมาแล้ว 3 - 5 วัน) จะให้ฉีดยาทันที และฉีดยาครั้งต่อไปห่างจากวันที่ฉีดยาล่า สุด 5 วัน และครั้งต่อไปให้ฉีดตามวันปกติที่ฉีดยาเป็นประจำเช่น ปกติแล้วฉีดยาทุกๆวันจันทร์ แต่ครั้งนี้นึกขึ้นตอนวันศุกร์ (ล่าช้าไป 4 วัน) ดังนั้นแนะนำให้ฉีดยาทันที แล้วครั้งต่อไปนับห่างจากวันศุกร์ 5 วันคือฉีดวันพุธ และครั้งถัดๆไปก็ให้ฉีดยาตามปกติแต่เริ่มแรกคือ วันจันทร์

อินเตอร์เฟอรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาอินเตอร์เฟอรอนที่พบได้บ่อย เช่น

  • อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptom) ซึ่งจะมีอาการเหมือนมีไข้, หนาวสั่น, หัวใจเต้นเร็ว, ปวดเมื้อยเนื้อตัว, ไม่สบายตัว, ปวดหัว ซึ่งมักเกิดในระยะเวลา 1 - 2 ชั่วโมงหลังได้รับการบริหารยา/การฉีดยา และจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง

อาการอื่นๆที่อาจพบได้ระหว่างใช้ยานี้ ซึ่งมีอาการเป็นติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือรบกวนคุณภาพชีวิตควรปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เช่น

  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย
  • บริเวณที่บริหารยา/ฉีดยามีรอยฟกช้ำ ระคาย เคืองผิว ผิวหนังที่ฉีดยาบวมแดง
  • มีอาการปวดท้อง รู้สึกไม่สบายท้อง
  • อาเจียน
  • รับรสชาติผิดปกติ
  • รู้สึกง่วงซึม
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • นอนไม่หลับ
  • ผมร่วง ผมบาง
  • ผิวแห้ง
  • มีเนื้อตาย (แผลเนื้อเน่า) เกิดบริเวณที่ฉีดยาฯเป็นประจำ
  • มีผื่นคัน

*อนึ่ง อาการไม่พึงประสงค์จากยาดังต่อไปนี้ หากผู้ป่วยที่กำลังใช้อินเตอร์เฟอรอนอยู่แล้วเกิดอาการฯ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น

  • มีการมองเห็นผิดปกติ สูญเสียการมองเห็น มีตาพร่ามัว
  • สูญเสียการได้ยินหรือได้ยินผิดปกติ
  • รู้สึกซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • รู้สึกเจ็บหน้าอก
  • มีอาการใจสั่น
  • ตัวบวม
  • รู้สึกวูบหรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • มีเลือดออกผิดปกติที่อวัยวะต่างๆที่เห็นได้ชัดเจน
  • ปวดหลังตอนล่าง
  • ประสาทหลอน
  • รู้สึกสับสน
  • ปวดศีรษะร้ายแรง
  • มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปากเบี้ยว
  • อาการไอ
  • มีอาการทางระบบหายใจอื่นๆที่อาจสงสัยถึงอาการปอดอักเสบหรือปอดบวมน้ำ

มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้แอลกอฮอล์ชนิด Benzyl Alcohol
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งชนิดที่ตับไม่สามารถทำงานชดเชยได้(Decompensated cirrhosis) เนื่องจากภาวะนี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ง่ายและทำให้มีภาวะตับวายที่เป็นมากขึ้นจนอาจเสียชีวิต (ตาย) ได้
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ – ซีเรื้อรังที่เป็นตับแข็ง
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมการรักษาไม่ได้ดีเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคซีโอพีดี)
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนไต หัวใจ หรือปอด
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในเด็กได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กทารกที่มีอายุมากกว่า/เท่ากับ 2 ปีขึ้นไป โดยยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีเนื่องจากยังไม่มีข้อมูล ขนาดยาที่เหมาะสม และทารกอาจได้รับผลพิษจากยาได้
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในช่วงกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในช่วงตั้งครรภ์ อีกทั้งไม่แนะนำให้ใช้ยาในผู้ป่วยหญิงที่ไม่เต็มใจยินยอมคุมกำเนิดในระหว่างกำลังได้รับอินเตอร์เฟอรอน
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยังทราบไม่แน่ชัดว่าอินเตอร์เฟอรอนจะหลั่ง ออกมาพร้อมน้ำนมหรือไม่ จึงควรพิจารณาหยุดการรักษาหรือหยุดการให้นมบุตรเพื่อป้องกันอา การไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจมีต่อบุตรที่ได้รับน้ำนมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความจำเป็นของการรักษาของมารดาร่วมด้วย โดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนคู่กับยาชนิดอื่นๆที่มีฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูก จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการติดเชื้อ เนื่องจากอินเตอร์เฟอรอนมีฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูกเช่น กันซึ่งจะทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ในผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตลดลงน้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาที การใช้อินเตอร์เฟอรอนจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพิษจากยาอินเตอฺร์เฟอรอนได้
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะชักหรือมีปัญหาทางระบบประสาท อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักขึ้นได้
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคซึมเศร้าหรือมีความคิดฆ่าตัวตายอาจกระตุ้นให้อาการซึมเศร้าแย่ลงได้
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่มีประวัติปัญหาทางด้านสายตาอาจกระตุ้นให้เกิดสายตาผิดปกติมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่มีโรคต่อมไทรอยด์อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ / ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ระหว่างการรักษาด้วยยาอินเตอร์เฟอรอน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน และสับสน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถและทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และต้องไม่ปรับเพิ่มหรือลดขนาดยาด้วยตนเองเด็ดขาด

อินเตอร์เฟอรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้อินเตอร์เฟอรอนคู่กับยาลดความดันโลหิตสูง ,ยาแคปโทพริว (Captopril) ,หรือยาอินาลาพริว Enalapril จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของระบบเลือด เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ต่ำ(Granulocytopenia) ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย, หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ส่งผลให้เลือดออกผิดปกติได้ง่ายและเลือดหยุดไหลได้ช้า ดังนั้นหากมีการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง รวมถึงควรติดตามค่าความสมบูรณ์ของเลือด (ซีบีซี/CBC) อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนคู่กับยาโคลชิซีน (Colchicine: ยาลดกรดยูริก) จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการลดปริมาณเชื้อไวรัสของอินเตอร์เฟอรอนลดลง ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อไวรัสของอินเตอร์เฟอรอน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน
  • การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนคู่กับยาทีโอฟีลีน (Theophylline: ยาขยายหลอดลม) จะเพิ่มความเป็นพิษของยาทีโอฟีลีน โดยอาจมีอาการดังนี้เช่น คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ชัก ดังนั้นหากมีการใช้ยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจเลือดติดตามผลพิษของยาด้วยวิธีการเจาะวัดระดับยาทีโอฟีลีนในเลือด (Therapeutic Drug Monitoring: TDM)ในระหว่างที่ใช้ยาร่วมกัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยา หรือมีการหยุดใช้ยาร่วมกัน หรือผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยความเป็นพิษจากยา

ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอนอย่างไร?

แนะนำเก็บยาอินเตอร์เฟอรอน เช่น

  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงต่างๆที่อาจส่องถึงโดยเฉพาะแสงแดด และ
  • จำเป็นต้องเก็บยานี้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 2 - 8 องศาเซล เซียส (Celsius) โดย
    • เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับวางยาคือ วางยา ณ ตำแหน่งภายในตู้เย็น ไม่เลือกตำแหน่งบริเวณฝาประตูตู้เย็น เนื่องจากอุณหภูมิบริเวณฝาตู้เย็นอาจไม่สม่ำเสมอ
    • ห้ามเก็บยาในช่องแช่เย็นหรือช่องแช่แข็งโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ และ
    • อินเตอร์เฟอรอนมีความคงตัวอยู่นอกตู้เย็นเพียง 24 ชั่วโมง ดังนั้นหากนำเอาอินเตอร์เฟอรอนออกจากตู้เย็นเกินกว่า 24 ชั่วโมงควรทิ้งยาไป
  • นอกจากนี้ ยังไม่ควรเขย่าภาชนะที่บรรจุยานี้อยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากอินเตอร์เฟอรอนเป็นโปรตีน การเขย่าอาจทำให้ยาในภาชนะบรรจุเกิดฟองอากาศขึ้นซึ่งไม่เหมาะสมกับการบริหารยา

อินเตอร์เฟอรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินเตอร์เฟอรอน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bioferon (Interferon alfa 2b) (ไบโอฟีรอน)Bio Sidus
Rabif (Interferon beta 1a) (ราบีฟ)Pfizer
Betaferon PFS (Interferon beta 1b) (เบต้าฟีรอน)Bayer Healthcare Pharms
Pegasys (Peg-Interferon alfa 2a) (เพกกาซีส)Roche
Peg-Intron (Peg-Interferon alfa 2b) (เพกอินตรอน)MSD
Peg-Intron Radipen (Peg-Interferon alfa 2b) (เพกอินตรอน ราดิเพน)MSD

บรรณานุกรม

1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012

2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.

3. Product Information:Pegasys, Pefinterferon alfa-2a, Roche, Thailand.

4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013

5. Idrian García-García1, Carlos A González-Delgado, Carmen M Valenzuela-Silva1 and et al. Pharmacokinetic and pharmacodynamics comparison of two “pegylated” interferon alpha-2 formulations in healthy male volunteers: a randomized, crossover, double-blind study. BMC Pharmacology, 2010.