อินซูลิน กลูไลซีน (Insulin glulisine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินซูลินกลูไลซีน(Insulin glulisine) เป็นฮอร์โมนอินซูลิน(อินซูลิน)สังเคราะห์ที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ I และ II รวมถึงเบาหวานประเภทที่มีภาวะเลือดเป็นกรด(Diabetic ketoacidosis) นักวิทยาศาสตร์ได้นำเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรมมาตัดต่อโครโมโซมของแบคทีเรีย Escherichia coli (E.coli) ทำให้แบคทีเรียชนิดนี้สร้างอินซูลินประเภทออกฤทธิ์เร็ว (Rapid acting insulin) โดยมีระยะเวลาการออกฤทธิ์นาน 3–4 ชั่วโมงและออกฤทธิ์ได้ภายใน 15 นาทีหลังฉีดยานี้

ยาอินซูลินกลูไลซีนมีโครงสร้างคล้ายกับอินซูลินของมนุษย์ แต่มีความแตกต่างกันที่การจัดเรียงกรดอะมิโนบนโครงสร้างโมเลกุลของอินซูลิน กล่าวคือ อินซูลิน กลูไลซีนมีโครงสร้างด้วยการแทนที่ของกรดอะมิโน 2 ตัว โดยกรดแอสพาราจีน (Asparagine)บนตำแหน่งบี3(B3)ของโครโมโซมแบคทีเรียจะถูกแทนที่ด้วยกรดไลซีน (Lysine) ในขณะที่กรดอะมิโนบนตำแหน่งโครโมโซม บี29(B29) จะถูกแทนที่ด้วยกรด กลูตามิก(Glutamic)

ยาอินซูลินกลูไลซีนเป็นอินซูลินชนิดที่มีลักษณะใสไม่มีสี ผู้ป่วยที่ได้รับยาอินซูลิน กลูไลซีนฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียง 15 นาทีตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ของยาอินซูลินชนิดนี้เป็นแบบ ขวดไวอัล(Vial) และแบบปากกาอินซูลินที่พร้อมใช้งาน (Prefilled pen) ยานี้สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้าหลอดเลือดดำก็ได้

ผู้ที่ได้รับยาอินซูลินทุกชนิดรวมยาอินซูลินกลูไลซีนจะต้องได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้เป็นการประเมินประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาอินซูลินที่แพทย์สั่งจ่ายว่า เหมาะสมกับผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด

ผู้ป่วยเบาหวานบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาอินซูลินกลูไลซีนได้หากมีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้ หรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่แล้ว หรือมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูง

นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่มียารักษาโรคชนิดอื่นๆใช้อยู่ก่อน ก็สามารถสร้างภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอินซูลินกลูไลซีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยา Beta-blockers, Clonidine, Guanethidine, Lithium, หรือ Reserpine โดยยาเหล่านี้อาจส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบโดยละเอียดว่า ตนเองมียาประเภทใดที่รับประทานอยู่ก่อน มีโรคประจำตัวอื่นใดอยู่บ้าง

ยาอินซูลินกลูไลซีนจัดเป็นยาประเภทฮอร์โมนที่มีความไวต่ออุณหภูมิสูง จึงต้องจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิอยู่ในช่วง 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) และก่อนนำอินซูลินชนิดนี้กลับมาใช้ที่บ้าน ผู้ป่วยเบาหวานหรือญาติ จะต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้วิธีการใช้ยาอินซูลินจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล และต้องใช้อินซูลินตามขนาด ที่แพทย์แนะนำ นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้สภาวะร่างกายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป เพื่อจะได้ใช้วิธีปฐมพยาบาลตนเองได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”)

*กรณีที่เกิดข้อผิดพลาดที่ผู้ป่วยได้รับอินซูลินกลูไลซีนเกินขนาด จะทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากมีอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจอยู่ในสภาพหมดสติ ผู้พบเห็นจะต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะรักษาโดยจะใช้ยา Glucagon ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อบำบัดอาการหรือให้น้ำตาลกลูโคส(Glucose)เข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อทำให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นสภาพโดยเร็ว

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยาอินซูลินกลูไลซีนอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาอินซูลินนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง ซึ่งผู้บริโภคจะพบเห็นการใช้อินซูลินชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อินซูลิน กลูไลซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินซูลินกลูไลซีน

ยาอินซูลิน กลูไลซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และ II
  • รักษาโรคเบาหวานในผู้ป่วยที่มีสภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis)

อินซูลิน กลูไลซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอินซูลินกลูไลซีนเป็นอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้คือ ตัวยาจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเซลล์ไขมัน นำน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและเป็นที่มาของสรรพคุณ

อินซูลิน กลูไลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินซูลิน กลูไลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีด ที่เป็นสารละลายใสโดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ดังนี้

  • ขวดไวอัล(Vial) ที่บรรจุยา Insulin glulisine ขนาด 1,000 ยูนิต/10 มิลลิลิตร
  • ปากกาอินซูลินพร้อมใช้งานที่บรรจุยา Insulin glulisine ขนาด 300 ยูนิต/3 มิลลิลิตร

อินซูลิน กลูไลซีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอินซูลินกลูไลซีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับรักษาเบาหวานประเภทที่ I:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.5–1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ควรฉีดยานี้ก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที หรือฉีดยาหลังรับประทานอาหาร 20 นาทีโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ข.สำหรับรักษาเบาหวานประเภทที่ II:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ขนาดตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นกับผู้ป่วยมียารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่

อนึ่ง:

  • ในเด็ก: สามารถใช้ยาอินซูลินชนิดนี้รักษาเบาหวานประเภทที่ 1 กับเด็กที่มีอายุ ตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป และขนาดการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี การใช้ยานี้ อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • ควรใช้อินซูลินกลูไลซีน รักษาเบาหวานประเภทที่ 2 กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจจะปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสม
  • ฉีดยาอินซูลินชนิดนี้ตรงตามเวลาต่อเนื่องสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรปรับขนาดการฉีดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • เรียนรู้ เทคนิคการฉีดยา การเก็บรักษา สภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง เพื่อดูแลตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัยได้ถูกต้อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินซูลินกลูไลซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลินกลูไลซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาอินซูลินกลูไลซีน สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไปไม่จำเป็น ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี กรณีลืมฉีดยาอินซูลินกลูไลซีน ผู้ป่วยอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิดขึ้นได้ง่าย

อินซูลิน กลูไลซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินซูลิน กลูไลซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น อาการบวมของมือและเท้า เกิดความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะไขมันสะสมผิดปกติในบริเวณผิวหนัง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีอาการคล้ายเป็นโรคหวัด คออักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน กลูไลซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลิน กลูไลซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอินซูลินกลูไลซีน
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ เพราะจะทำให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดผิดปกติได้ง่ายซึ่งอาจสูงหรือต่ำก็ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เกิดตะกอนขุ่น
  • ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยาไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบในบริเวณที่ฉีดยา
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อน ตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการตรวจร่างกาย ตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือด ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอินซูลิน กลูไลซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินซูลิน กลูไลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินซูลินกลูไลซีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอินซูลิน กลูไลซีนร่วมกับ ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น , กลุ่มยาMAOIs, ACE inhibitors, Salicylates, Pentamidine, Propoxyphene , หรือSomatostatin analogs อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ ยาอินซูลินกลูไลซีนร่วมกับกลุ่มยาดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาอินซูลิน กลูไลซีนร่วมกับกลุ่มยาThiazolidinediones ด้วยเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายตามมา
  • ห้ามใช้ยาอินซูลิน กลูไลซีนร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา

ควรเก็บรักษาอินซูลิน กลูไลซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอินซูลินกลูไลซีน ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

อินซูลิน กลูไลซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินซูลินกลูไลซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Apidra (เอพิดรา)sanofi-aventis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยาอินซูลินกลูไลซีน เช่น Apidra solostar

บรรณานุกรม

  1. http://products.sanofi.us/apidra/apidra.pdf[2017,June3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Insulin_glulisine[2017,June3]
  3. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Scientific_Discussion/human/000557/WC500025246.pdf[2017,June3]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/insulin%20glulisine/?type=brief&mtype=generic[2017,June3]
  5. https://www.drugs.com/mtm/insulin-glulisine.html[2017,June3]
  6. https://www.drugs.com/dosage/insulin-glulisine.html[2017,June3]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/insulin-glulisine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,June3]
  8. https://www.google.co.th/search?q=insulin+analogue+image&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwjgga2p5fPTAhUMp48KHex4DV0QsAQIKQ&biw=1920&bih=950#imgrc=rlpYzQE9RvWwXM:[2017,June3]