อินซูลาทาร์ด (Insulatard)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินซูลาทาร์ด(Insulatard) เป็นยาชื่อการค้าของ ยาเอนพีเฮช อินซูลิน (NPH Insulin หรือ Isophane Insulin) ชนิดที่มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นเข็มฉีดยาที่มีลักษณะคล้ายปากกาหรือที่เรียกกันว่า “เข็มปากกา(Penfill หรือ Penfill needle)” สามารถตั้งปรับระดับการฉีดอินซูลินและสะดวกต่อผู้บริโภคด้วยมีเข็มฉีดยาติดตั้งมาให้เรียบร้อยแล้ว ในตลาดยาเรายังพบเห็นอินซูลินแบบ Penfill ได้อีก 2 ลักษณะ คือ

  • Penfill ประเภทใช้ฉีดครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย(Disposable needle) และ
  • Reusable insulin pen การใช้งานต้องนำอินซูลินที่บรรจุอยู่ในหลอดยาชนิดที่เรียกว่า Insulin cartridge มาใส่ที่ตัวปากกาอินซูลิน (Reusable insulin pen) แล้วนำไปใช้งาน เมื่อใช้งานแล้วต้องถอดหลอดยา Insulin cartridge ทิ้งไป ส่วนปากกาอินซูลินยังเก็บไว้ใช้งานต่อได้

นอกจากนั้น อีกรูปแบบหนึ่งของยาอินซูลาทาร์ด จะเป็นลักษณะบรรจุขวดเล็กๆที่เรียกว่าไวอัล(Vial) ซึ่งต้องใช้เข็มฉีดยาดูดตัวยาอินซูลินนี้แล้วจึงนำไปฉีดให้ผู้ป่วย

การใช้ยาอินซูลาทาร์ด ต้องทำการฉีดให้ผู้ป่วยเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา หน้าท้อง ต้นแขน หรือบริเวณแก้มก้น และควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดไม่ซ้ำบริเวณเดิมเพราะการฉีดยาซ้ำๆที่เดิมจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและอักเสบในบริเวณที่ฉีดยา การบริหารยานี้ในผู้ป่วยเบาหวานจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ โดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องฉีดยาอินซูลาทาร์ดวันละ 1–2 ครั้ง การฉีดยานี้จะเป็นช่วงเวลาระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานอาหาร ขนาดการใช้ยาอาจเป็น 0.3 และ 1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของเบาหวานในผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันออกไป

ผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถใช้ยาอินซูลาทาร์ดจะมีตั้งแต่กลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้ใหญ่ และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อควรทราบอยู่บางประการที่ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ก่อนที่จะใช้ยาอินซูลาทาร์ด ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • เรียนรู้วิธีการฉีดยาอินซูลาทาร์ด เช่น ชนิด Vial ซึ่งต้องใช้เข็มฉีดยาดูดยา อินซูลินออกมาใช้ หรือเป็นชนิด Penfill หรือเป็น Reusable insulin pen ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้เทคนิคการใช้เภสัชภัณฑ์อินซูลาทาร์ดแต่ละประเภทได้จากแพทย์/เภสัชกร/ พยาบาล ตามสถานพยาบาลที่ตนเองเข้ารับการรักษา(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง”)
  • ผลิตภัณฑ์ยาอินซูลาทาร์ดต้องถูกจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น หลีกเลี่ยง/ห้ามวางทิ้งในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานานๆด้วยจะทำให้ความคงตัวของผลิตภัณฑ์สูญเสียไป ทั่วไป ผลิตภัณฑ์นี้จะมีอายุการจัดเก็บนาน 30 เดือนหลังการผลิต กรณีที่เภสัชภัณฑ์เป็นขวดแบบไวอัลจะเก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ได้ไม่เกิน 6 สัปดาห์ และ เภสัชภัณฑ์ที่เป็นปากกาอินซูลิน(Penfill) สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสได้ไม่เกิน 6 สัปดาห์เช่นกัน
  • ยาอินซูลาทาร์ด สามารถใช้ในลักษณะเป็นยาเดี่ยวเพื่อรักษาโรคเบาหวาน หรืออาจใช้ร่วมกับยาอินซูลินอื่นประเภทที่ออกฤทธิ์เร็ว(Fast-acting insulin/ Rapid -acting insulin)
  • โดยทั่วไป การฉีดยาอินซูลินที่รวมถึงยาอินซูลาทาร์ด จะเป็นช่วงเช้าในเวลาอาหาร หรือฉีด เช้า-เย็น ตามคำสั่งแพทย์ โดยตัวยาจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติได้ตลอดวัน
  • การใช้ยาอินซูลาทาร์ด ผู้ป่วยควรต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองร่วมด้วยตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิผลของการใช้ยานี้ หากเกิดความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ตาม ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
  • ขณะฉีดยาอินซูลาทาร์ด ควรฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังโดยเดินยาช้าๆ ใช้เวลา 6 วินาทีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ได้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังจริงๆ และผู้ป่วยได้รับยาครบถ้วน
  • ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำโดยตรง
  • การใช้ยาอินซูลาทาร์ดชนิด Penfill จะต้องใช้อุปกรณ์ที่แนบมากับผลิตภัณฑ์เท่านั้น ห้ามใช้อุปกรณ์ของบริษัทอื่นมาประยุกต์ใช้โดยเด็ดขาด
  • ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือด และเพื่อความแม่นยำของการตรวจรักษา แพทย์อาจพิจารณาตรวจเลือดดูระดับค่า HbA1C (Hemoglobin A1c หรือ Glycated haemoglobin test) หรือค่าน้ำตาลสะสมในเลือด ผู้ป่วยจึงควรต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาอินซูลินทุกชนิดที่รวมยาอินซูลาทาร์ดช ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และหากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาอินซูลาทาร์ดชเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ที่ตรวจรักษาอาการ หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

อินซูลาทาร์ดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินซูลาทาร์ด

ยาอินซูลาทาร์ดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และ II

อินซูลาทาร์ดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินซูลาทาร์ดคือ เป็นอินซูลินที่ออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting insulin ที่ตัวยาเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1- 2 ชั่วโมงหลังฉีดยา และตัวยาออกฤทธิ์ได้นาน 12-18 ชั่วโมง) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเซลล์ไขมัน ส่งผลให้เซลล์/ เนื้อเยื่อเหล่านั้นนำกลูโคส(Glucose)ในกระแสเลือดมาใช้เป็นพลังงาน นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือด อยู่ในเกณฑ์ปกติ และเป็นที่มาของสรรพคุณ

อินซูลาทาร์ดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินซูลาทาร์ดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดชนิดแขวนตะกอน โดยแบ่งตามเภสัชภัณฑ์ได้ดังนี้

  • ชนิดบรรจุขวดไวอัล(Vial) ประกอบด้วย NPH insulin ขนาด 1,000 ยูนิต/10 มิลลิลิตร
  • ชนิดปากกาอินซูลิน (Penfill) ประกอบด้วย NPH insulin ขนาด 300 ยูนิต/3 มิลลิลิตร

อินซูลาทาร์ดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอินซูลาทาร์ดมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.3 และ 1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อาจแบ่งการฉีดยาเป็น 1-2 ครั้ง/วันก็ได้ โดยฉีดยาระหว่างมื้ออาหาร หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์จะพิจารณาปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมาตามความเหมาะสม
  • ฉีดยาอินซูลินชนิดนี้ ตรงตามเวลา ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
  • ห้ามปรับขนาดการฉีดยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • เรียนรู้ เทคนิคการฉีดยานี้ การเก็บรักษา สภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง จากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อดูแลตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำใน โรคเบาหวาน”

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินซูลาทาร์ด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลาทาร์ดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาอินซูลาทาร์ด สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาในขนาดปกติ

อินซูลาทาร์ดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินซูลาทาร์ดสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น อาจพบอาการบวมน้ำซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย(โซเดียมในเลือดสูง)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจเกิดภาวะไขมันสะสมผิดปกติในบริเวณผิวหนัง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ อาจเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินโดยมีน้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อตา: เช่น มีความผิดปกติกับเส้นประสาทตา ส่งผลให้ตามัว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกเจ็บปลายเส้นประสาท

มีข้อควรระวังการใช้อินซูลาทาร์ดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลาทาร์ด เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอินซูลินชนิดนี้
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงหรือต่ำก้ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป ยาตกตะกอนละลายไม่หมด
  • ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยานี้ไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบ
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อน ตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด เพื่อการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินซูลาทาร์ดด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินซูลาทาร์ดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินซูลาทาร์ดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอินซูลาทาร์ดร่วมกับ ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น, กลุ่มยาMAOIs, ACE inhibitor, Salicylates, Anabolic steroid, Beta blockers, อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะ ปรับลดการใช้ยาอินซูลาทาร์ดลงมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอินซูลาทาร์ดร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด , Thiazides, ยาไทรอยด์ฮอร์โมน, กลุ่มยา Growth hormone(ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) จะเกิดการรบกวนการออกฤทธิ์ของยาอินซูลาทาร์ดจนทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของยาอินซูลาทาร์ดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะ ปรับเพิ่มขนาดการใช้ของยาอินซูลาทาร์ดตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาอินซูลาทาร์ดร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา

ควรเก็บรักษาอินซูลาทาร์ดอย่างไร?

ควรเก็บยาอินซูลาทาร์ดภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อินซูลาทาร์ดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินซูลาทาร์ดที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Insulatard Penfill (อินซูลาทาร์ด เพนฟิลล์)Novo Nordisk
Insulatard HM (อินซูลาทาร์ด เฮชเอม)Novo Nordisk

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/insulatard%20hm-insulatard%20penfill/?type=brief[2017,June3]
  2. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/3512/SPC/Insulatard+100+IU+ml%2C+Insulatard+Penfill+100+IU+ml%2C+Insulatard+InnoLet+100+IU+ml/[2017,June3]
  3. https://www.drugs.com/uk/insulatard.html[2017,June3]
  4. http://www.pharmaline.co.il/images/newsletterregistration/novonordisk/12102011/insulatardpenfilldr.pdf[2017,June3]
  5. http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=14602&gid=9[2017,June3]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/insulin-isophane,nph-insulin.html[2017,June3]
  7. https://www.drugs.com/sfx/nph-insulin-side-effects.html[2017,June3]
  8. http://www.diabetes.co.uk/insulin/insulin-actions-and-durations.html[2017,June3]