อาหารในโรคตับ (Liver disease diet)

อาหารในผู้ป่วยโรคตับ จะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของตับ ดังนั้นจึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน แพทย์และพยาบาลผู้ให้การรักษาผูป่วยจึงเป็นผู้ที่จะให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และบ่อยครั้ง เมื่อตับสูญเสียการทำงานมากขึ้น อาจจำเป็นต้องได้ รับคำแนะนำจากโภชนากรร่วมด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับ จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาลผู้ให้การดูแลรักษาในเรื่องของอาหาร เพื่อให้ได้อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

แต่โดยทั่วไป อาหารผู้ป่วยโรคตับ แพทย์ยังคงแนะนำให้เป็นอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ แต่โปรตีนจะเป็นอาหารในกลุ่มที่เพิ่มการทำงานของตับ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำการจำกัดอา หารโปรตีนตามประสิทธิภาพการทำงานของตับ แต่ให้เพิ่มอาหารแป้ง (ควรเป็นจากธัญพืชเต็มเมล็ด หรือชนิดผ่านการขัดสีน้อย) เพื่อให้ร่างกายได้สมดุลของพลังงานที่ลดลงไปจากการลดอาหารโปรตีน โดยทั่วไป อาหารโปรตีนมักให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโล กรัมต่อวัน และอาจให้เพิ่มอาหารไขมัน (ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว คือ ไขมันจากพืช) ได้มากกว่าคนปกติทั่วไป (คนปกติทั่วไป อาหารไขมันประมาณ 30% ของพลังงานจากอาหารทั้งหมด) แต่ยัง คงควรต้องบริโภค ผัก ผลไม้ ให้ได้มากๆ

สารอาหารที่ควรจำกัดอีกชนิด คือ อาหารเค็ม เพราะเมื่อได้โปรตีนน้อย ร่างกายมักจะบวมได้ง่ายอยู่แล้ว ซึ่งอาหารเค็ม/เกลือแกง/เกลือโซเดียม เป็นอีกสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการบวมทั่วร่างกาย ที่พบได้บ่อย คือ เท้า และท้องบวม/ท้องมาน/มีน้ำในท้อง ทั้งนี้ควรต้องจำกัดเกลือให้ต่ำกว่าวันละ 1,500 มิลลิกรัม และเมื่อมีอาการบวม อาจต้องลดให้น้อยกว่านี้อีก

น้ำดื่ม เมื่อยังไม่มีอาการอาการบวม ยังคงดื่มได้ในปริมาณปกติ คือ ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน ซึ่งเมื่อมีอาการบวม แพทย์ พยาบาลจะให้คำแนะนำในการจำกัดน้ำดื่มเพิ่มเติม

ส่วนเครื่องดื่มมีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ) ก็ยังคงเหมือนในคนปกติ คือ ดื่มได้ประมาณวันละ 1 ช้อนชา

ส่วนการบริโภคอาหารเสริม หรือการเสริมอาหารด้วยวิตามิน เกลือแร่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ ให้การรักษาก่อนเสมอ เพราะอาจเพิ่มการทำงานของตับมากเกินไปได้

ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ เพราะเป็นพิษโดยตรงต่อตับ

บรรณานุกรม

  1. Diet-liver disease. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002441.htm [2012,Nov 22].