อาหารเสริมวิตามินดี ดีจริงหรือไม่ ? (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

อย่างไรก็ดีการได้รับวิตามินดีที่มากเกินไปอาจทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมที่มากเกิน อันเป็นสาเหตุให้เกิดแคลเซียมมากในกระแสเลือด ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะ

  • มีแคลเซียมสะสมในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น หัวใจ และปอด
  • สับสนและงุงงน (Disorientation)
  • ไตถูกทำลาย
  • นิ่วในไต
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนแรง และน้ำหนักลด

การโดนแดดสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 10-15 นาที จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ ทั้งนี้จะต้องให้ผิวหน้า แขน หลัง หรือขา ได้รับแสงแดดโดยไม่มีกันแดด (Without sunscreen) อย่างไรก็ดี การถูกแสงแดงมากก็อาจมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่ผิวหนัง ดังนั้นจึงควรใช้ครีมกันแดดภายหลังจากการโดนแดดไปบ้างแล้ว

คนที่ไม่ได้อยู่ในที่ที่มีแดดอาจจะได้รับวิตามินดีไม่มากพอ หรือผิวหนังที่โดนแสงแดดในที่ร่มโดยผ่านทางหน้าต่างก็จะไม่สามารถสร้างวิตามินดีได้เช่นกัน นอกจากนี้ หมอก เงา และการมีสีผิวที่เข้มก็มีส่วนในการทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้น้อยลง

ในการเจาะเลือดเพื่อบอกว่าร่างกายเราขาดวิตามินดีหรือไม่ เราจะเจาะหา 25-hydroxyvitamin D ซึ่งมีมาตรวัดเป็นนาโนแกรมต่อมิลลิลิตร (Nanograms per milliliter = ng/mL) หรือ นาโนโมลต่อลิตร (Nanomoles per liter = nmol/L) โดย 0.4 ng/mL = 1 nmol/L

ค่า 25-hydroxyvitamin D ที่ต่ำกว่า 30 nmol/L (12 ng/mL) ถือเป็นระดับที่ต่ำสำหรับกระดูกหรือร่างกายทั้งหมด และค่าที่สูงกว่า 125 nmol/L (50 ng/mL) อาจถือเป็นระดับที่สูงเกินไป ในขณะที่ค่า 50 nmol/L หรือ 20 ng/mL ขึ้นไปถือเป็นระดับที่พอเพียงสำหรับร่างกาย

ปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน (Recommended Dietary Allowance = RDA) นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยพิจารณาถึงปัจจัยของอายุและเพศ การตั้งครรภ์ และสุขภาพ เป็นหลัก ทั้งนี้ สถาบันแพทย์ของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำถึงปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับต่อวัน (RDA) ดังนี้

  • ทารก 0–12 เดือน : 400 IU ต่อวัน
  • อายุ 1–70 ปี : 600 IU ต่อวัน (15 μg ต่อวัน)
  • อายุ 71 ปีขึ้นไป : 800 IU ต่อวัน (20 μg ต่อวัน)
  • หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร : 600 IU ต่อวัน (15 μg ต่อวัน)

ส่วนปริมาณสูงสุดที่ควรจำกัดไม่ให้เกิน เพื่อป้องกันการเกิดผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่

  • ทารก 0–6 เดือน : 1,000 IU (25 µg ต่อวัน)
  • ทารก 6–12 เดือน : 1,500 IU (37.5 µg ต่อวัน)
  • อายุ 1–3 ปี : 2,500 IU (62.5 µg ต่อวัน)
  • อายุ 4–8 ปี : 3,000 IU (75 µg ต่อวัน)
  • อายุ 9–71 ปีขึ้นไป : 4,000 IU (100 µg ต่อวัน)
  • หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร : 4,000 IU (100 µg ต่อวัน)

นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้กินวิตามินดีในปริมาณนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Vitamin D. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002405.htm [2014, February 1].
  2. Vitamin D. http://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D [2014, February 1].