อาหารเสริมวิตามินดี ดีจริงหรือไม่ ? (ตอนที่ 1)

Dr. Mark Bolland หัวหน้านักวิจัยจาก The University of Auckland ในนิวซีแลนด์ กล่าวถึงผลงานวิจัยฉบับใหม่ว่า อาหารเสริมวิตามมินดีอาจไม่ได้ป้องกันโรคได้มากอย่างที่หวัง เพราะสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีปัญหาการขาดวิตามินดีนั้น อาหารเสริมวิตามินดีจะไม่ช่วยป้องกันปัญหาเรื่องของ กระดูก หัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็ง

ทั้งนี้ Dr. Mark Bolland ได้ทำการวิจัยแบบทดลองทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบ (Randomized controlled trials) ในอาหารเสริมวิตามินดีที่มีแคลเซียมหรือไม่มีแคลเซียมว่ามีผลต่อการป้องกันโรคหรือไม่

ผลการศึกษาพบว่า อาหารเสริมวิตามินดีที่มีแคลเซียมหรือไม่มีแคลเซียมนั้น ไม่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน /โรคอัมพาต(Stroke) โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) กระดูกหัก (Total fracture) ได้มากเกินกว่าร้อยละ 15 ส่วนผลต่อการช่วยลดอัตราการตายได้หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน เพราะยังต้องอาศัยข้อมูลศึกษาเพิ่มเติมอีก

แพทย์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกันว่า การขาดวิตามินดี มีผลเสียต่อสุขภาพ อาจเป็นสาเหตุให้ปวดกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพิ่มความเสี่ยงของการตายเพราะโรคหัวใจ มะเร็ง การบกพร่องในการรับรู้ของผู้สูงอายุ และโรคหอบหืดชนิดรุนแรงในเด็ก ซึ่งงานวิจัยล่าสุดระบุว่า ในคนที่สุขภาพสมบูรณ์ วิตามินดีจะไม่สามารถป้องโรคเหล่านี้ได้

วารสารทางการแพทย์ The Lancet Diabetes & Endocrinology ได้ประเมินว่า มีชาวอเมริกันประมาณร้อยละ 50 ที่กินอาหารเสริมวิตามินดี ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำให้เกิดข้อกังขาในอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมูลค่าถึง 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ ว่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่

แม้ว่างานวิจัยจะพบว่าวิตามินดีอาจจะช่วยรักษาโรคบางอย่างได้ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) และ โรคปวดกล้ามเนื้อไฟโบรไมอัลเจีย (Fibromyalgia) ได้ แต่คนที่กินอาหารเสริมวิตามินดีก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่กระดูกสะโพกจะหัก (Hip fracture)

วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินดีช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี โดยแคลเซียมและฟอสเฟตเป็นแร่ธาตุสำคัญ 2 ชนิด ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก

การขาดวิตามินดีสามารถทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ในผู้ใหญ่ หรือโรคกระดูกอ่อน (Rickets) ในเด็ก

โดยปกติ ร่างกายจะสามารถสร้างวิตามินดีขึ้นเองเมื่อผิวหนังโดนแสงแดด จึงเรียกว่า “วิตามินแสงแดด“ (Sunshine vitamin) สำหรับอาหารตามธรรมชาตินั้นจะพบวิตามินดีได้ไม่กี่ชนิด เช่น ปลาที่มีไขมันอย่าง ปลาทูนา ปลาแซลมอน และปลาแมคเคอแรล

ในขณะที่ตับวัว เนย และไข่แดง ก็มีวิตามินดีอยู่เล็กน้อย ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่จึงมีการเสริมวิตามินดีเข้าไป อย่างนมที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกามีการเสริมวิตามินดีเข้าไปที่ระดับ 400 IU ต่อ 1 ควอท

เพราะวิตามินดีที่ได้จากอาหารมักจะไม่เพียงพอ บางคนจึงกินอาหารเสริมวิตามินดี (Vitamin D supplement) ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

  • วิตามินดี 2 (Ergocalciferol)
  • วิตามินดี 3 (Cholecalciferol)

แหล่งข้อมูล:

  1. Vitamin D supplements won't protect against disease in healthy adults, review says http://www.cbsnews.com/news/vitamin-d-supplements-wont-protect-against-disease-in-healthy-adults-review-finds/ [2014, February 1]
  2. Role of Vitamin D in Disease Prevention Is Uncertain. http://www.oncolink.org/news/index.cfm?ID=3575&function=detail [2014, February 1].
  3. Vitamin D. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002405.htm [2014, February 1].