อาหารเป็นพิษ ชีวิตลำเค็ญ

จากเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเกือบ 100 รายที่วัดบ้านหนอง หมู่ 8 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังรับประทานอาหารกล่องบริจาค ซึ่งประกอบ ด้วย บะหมี่แห้ง ขนมจีน และข้าวกล่อง ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ และถ่ายท้องประมาณ 3-5 ครั้งต่อราย นั้น ล่าสุด นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากได้รับรายงาน ก็ได้ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 10 ทีมพร้อมเรือ เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย โดยนำส่งโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร พร้อมทั้งสั่งกำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ควบคุมดูแลความปลอดภัย อาหาร น้ำดื่ม ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในจุดอพยพที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญ ทั้งหมด 7 จุด มีผู้อพยพรวมตัวกันจำนวนมาก จุดละกว่า 100 ครอบครัว และมีข้อจำกัดในเรื่องความเป็นอยู่ ทั้งน้ำดื่มสะอาด น้ำใช้ และสุขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโรคอาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เป็นความเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิ มักจะเกิดจากการตระเตรียมหรือเก็บรักษาอาหารที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นก่อน, ระหว่าง, และหลังการเตรียมอาหาร จะช่วยลดโอกาสเกิดความเจ็บป่วยดังกล่าว นอกจากนี้ อาหารเป็นพิษอาจเกิดจากสารเคมี อาทิ ยาฆ่าแมลงหรือยาที่เจือปนอยู่ในอาหาร และสารพิษตามธรรมชาติ อาทิ เห็ดหรือปลาบางชนิด

อาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟักตัว (Incubation) ประมาณ 12 – 72 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นหลังการรับประทานอาหารปนเปื้อน ก่อนผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแสดงอาการ แบคทีเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ Salmonella ซึ่งเกิดจากการบริโภคไข่หรือเป็ดไก่ที่มิได้รับการปรุงให้สุกก่อน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ หากมีระดับกรดในกระเพาะอาหารต่ำ

มาตรการที่ยอมรับกันในชุมชนสาธารณสุข คือการล้างมือส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ป้องกันการแพร่กระจายของอาหารเป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ส่วนมาตรการที่บ้านเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อความปลอด ภัยจากการปรุงอาหารให้สุก รับประทานอาหารขณะที่ยังสดอยู่ หรือไม่ก็แช่ตู้เย็นไว้ แต่ต้องเข้าใจว่า แม้ความร้อนอาจฆ่าเชื้อแบคทีเรียในอาหารที่ปนเปื้อนได้ แต่ไม่อาจฆ่าพิษทุกอย่างได้เสมอไป นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยง อาหารที่บูดเสียง่ายเช่น มีกะทิ และอาหารประเภทยำ ในช่วงน้ำท่ามหนักนี้

อันที่จริง การป้องกันเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในเรื่องสุขอนามัย และบริการสาธารณะในการสำรวจปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยเฉพาะกระบวนการเคลื่อนย้ายอาหารจากฟาร์มสู่ การแปรรูปในอุตสาหกรรม ตลอดจนการขนส่งไปยังร้านค้าและภัตตาคาร ซึ่งต้องถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานสากล HACCP และ Cold chain

HACCP (Hazard analysis and critical control point) คือ ระบบวิเคราะห์และควบคุมจุดวิกฤตอันตรายในกระบวนการผลิตหรือจัดเตรียมอาหาร เพื่อให้ปลอดจากภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ชีวภาพ หรือสภาวะเคมี เป็นมาตรการป้องกัน ก่อนถึงการตรวจสอบขั้นสุดท้าย เมื่อสำเร็จรูปแล้ว ส่วน Cold chain นั้น เป็นการรักษาระดับอุณหภูมิ ตลอดกระบวนการรับ, เก็บรักษา, และส่งอาหาร เพื่อยืดอายุขัยของผักและผลไม้สด รวมทั้งอาหารแช่แข็ง

แหล่งข้อมูล:

  1. ส่ง จนท.ควบคุม “โรคอาหารเป็นพิษ” หลังพบผู้ป่วยเกือบ 100 ราย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000125232 [8 ตุลาคม 2011].
  2. Foodborne illness. http://en.wikipedia.org/wiki/Foodborne_illness [8 ตุลาคม 2011].