อาหารเช้าป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว (ตอนที่ 3)

อาหารเช้าป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว-3

      

      ดังนั้น จึงควรกินอาหารเช้าที่ให้คุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ และหลากหลาย พยายามเลือกกินธัญพืชไม่ขัดสี เสริมโปรตีนในอาหารเช้าด้วย นมไขมันต่ำ ไข่ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา และกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงมีกากใยสูงอย่างผลไม้ หรือสมูทตี้ที่ทำจากโยเกิร์ตไขมันต่ำและผลไม้ หรือกินถั่ว

      และเนื่องจากคนที่ไม่กินอาหารเช้าหรือกินอาหารที่ไม่ดีในมื้อแรกของวัน มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจขั้นร้ายแรง เรามาดูรายละเอียดของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวกันต่อไป

      โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Arteriosclerosis หรือบางทีอาจเรียกว่า Atherosclerosis) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่นำพาออกซิเจนและสารอาหารจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดการแข็งตัวและหนาตัวขึ้น จนจำกัดการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อ

      ซึ่งการแข็งตัวของหลอดเลือดอาจเกิดจากไขมัน คลอเรสเตอรอล แคลเซียม และคราบต่างๆ ที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดจนทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก และคราบเหล่านี้อาจแตกออกจนกลายเป็นลิ่มเลือด (Blood clot) ซึ่งสามารถเกิดขื้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย

      อาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็งจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อย ซึ่งหากเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งอย่างอ่อน (Mild atherosclerosis) ก็มักจะยังไม่แสดงอาการปรากฏให้เห็นจนกว่าหลอดเลือดจะตีบลงจนไม่สามารถส่งเลือดไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่อได้พอเพียง หรือบางครั้งลิ่มเลือดก็อุดตันทางเดินของเลือดอย่างเต็มที่หรือแตกออก เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจวาย (Heart attack) หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

      อาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็งระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรงจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่หลอดเลือดแข็งตัว เช่น

  • กรณีที่หลอดเลือดแดงแข็งที่บริเวณหัวใจ (Heart arteries) อาจมีอาการเจ็บหน้าอกหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)
  • กรณีที่หลอดเลือดแดงแข็งที่บริเวณสมอง อาจมีอาการชาทันทีทันใด หรือแขนขาอ่อนแรง พูดลำบากหรือพูดไม่ชัด สูญเสียการมองเห็นชั่วคราวในตาข้างหนึ่ง หรือกล้ามเนื้อที่หน้าตก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient ischemic attack = TIA) และหากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • กรณีที่หลอดเลือดแดงแข็งที่บริเวณแขนและขา อาจมีอาการของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral artery disease) เช่น เจ็บขาระหว่างเดิน (Claudication)

      [ภาวะกะเผลกเหตุปวด (Claudication) คือ ก่อนเดินไม่ปวด แต่เมื่อเริ่มเดินได้พักหนึ่งจะปวดขา ปวดน่อง จนเดินกะเผลก และเมื่อพักแล้ว อาการปวด อาการกะเผลกจะดีขึ้น พอเดินใหม่ก็กลับมีอาการปวดขา ปวดน่องอีก เป็นอยู่อย่างนี้เสมอๆ]

  • กรณีที่หลอดเลือดแดงแข็งที่บริเวณไต จะทำให้ความดันโลหิตสูงหรือไตวายได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Breakfast: Is It the Most Important Meal? https://www.webmd.com/food-recipes/most-important-meal#1 [2018, February 27].
  2. Arteriosclerosis / atherosclerosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/arteriosclerosis-atherosclerosis/symptoms-causes/syc-20350569 [2018, February 27].
  3. Atherosclerosis.https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/atherosclerosis [2018, February 27].