อาหารเช้าป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว (ตอนที่ 2)

อาหารเช้าป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว-2

      

      มีงานวิจัยหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่า อาหารเช้ามีผลดีต่อสุขภาพ ทั้งในเรื่องของความจำ การมีสมาธิ การลดระดับของคลอเรสเตอรอลตัวร้าย (LDL cholesterol) และการลดโอกาสในการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน

      ทั้งนี้เมื่อร่างกายตื่นขึ้นในตอนเช้า ระดับน้ำตาลในเลือดที่จำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและสมองมักจะต่ำซึ่งอาหารเช้าจะช่วยเติมในจุดนี้ เพราะหากร่างกายไม่ได้รับพลังงานจากอาหาร เราจะรู้สึกว่าไม่มีแรงและจะกินมากขึ้นในเวลาต่อมา

      อาหารเช้ายังให้วิตามินและสารอาหารที่ได้รับจากอาหารที่มีประโยชน์อย่างผลิตภัณฑ์นม ธัญพืช และผลไม้ เพราะหากเราไม่กิน เราก็จะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

      หลายคนที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเพราะความเร่งรีบ หรือเพราะมีความเข้าใจผิดคิดว่าการจะลดน้ำหนักต้องอดอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะระบบร่างกายจำเป็นต้องการอาหารก่อนที่จะถึงมื้อเที่ยง หากเราไม่กินอาหารเช้าก่อน เราจะรู้สึกโหย สมองจะหลั่งสารเคมีเพื่อให้เรากินอาหารมากขึ้น ทำให้กินจุกกินจิบ และจะกินมื้อเที่ยงและมื้อเย็นมาก ซึ่งมีผลทำให้อ้วนได้จากพลังงานส่วนเกิน

      สำหรับคนที่ไม่กินมื้อเช้า การเผาผลาญพลังงานจะลดลงถึงร้อยละ 10 ฉะนั้นการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักจึงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ถ้าเราอดอาหารมื้อใดสักมื้อหนึ่งเพื่อลดน้ำหนัก จะทำให้เกิดการโยโย่ เอฟเฟค (YOYO Effect) ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงควรที่จะกินอาหารให้ครบสามมื้อ แต่ให้ควบคุมปริมาณอาหารแทน

      ซึ่งในเรื่องนี้ นักวิจัยได้ทำการศึกษาและพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนที่กินอาหารเช้าจะมีรูปร่างผอมกว่าคนที่ไม่ได้กิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะการกินอาหารเช้าที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไฟเบอร์จะช่วยควบคุมความอยากอาหารในระหว่างวันได้ ดังนั้น หากคิดที่จะลดความอ้วน ก็อย่าคิดที่จะอดมื้ออาหาร โดยผลการวิจัยสนับสนุนว่า คนส่วนใหญ่ที่ลดน้ำหนักได้นั้น กินอาหารเช้าทุกวัน

      โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต อาหารเช้าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเจริญเติบโต เพราะหากไม่กินอาหารเช้า เด็กจะไม่ค่อยมีสมาธิและรู้สึกอ่อนเพลียเมื่ออยู่โรงเรียน เด็กอาจอารมณ์เสีย (Cranky) หรือกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข (Restless) โดยมีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ระบุว่า เด็กที่กินอาหารเช้าจะทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้า

      นอกจากนี้เด็กที่ไม่กินอาหารเช้ามักจะชอบกินอาหารขยะ (Junk food) ระหว่างวันและทำให้อ้วน ซึ่งงานวิจัยฉบับหนึ่งได้เปิดเผยว่า วัยรุ่นที่กินอาหารเช้าทุกวันจะมีดัชนีมวลกาย (Body mass index = BMI) ที่ต่ำกว่าวัยรุ่นที่ไม่เคยกินอาหารเช้าหรือกินบ้างไม่กินบ้าง

      อย่างไรก็ดี คุณจำเป็นต้องดูด้วยว่า คุณกินอะไร เมื่อไร มากน้อยขนาดใด คุณไม่จำเป็นต้องกินมื้อเช้าที่มากมายหรือกินเพื่อให้อิ่ม เช่น กินโดนัท แต่ควรกินอาหารผสมที่ให้ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันที่ดี และไฟเบอร์ เพราะคาร์โบไฮเดรตจะให้พลังงานทันที ส่วนโปรตีนจะให้พลังงานในเวลาถัดมา ในขณะที่ไฟเบอร์จะทำให้รู้สึกอิ่ม

แหล่งข้อมูล:

  1. ‘อาหารเช้า’ สำคัญไฉน. http://www.thaihealth.or.th/Content/37944-‘อาหารเช้า’ สำคัญไฉน.html [2018, February 26].
  2. Breakfast: Is It the Most Important Meal? https://www.webmd.com/food-recipes/most-important-meal#1 [2018, February 26].