อาหารผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง (Diet for hyperlipidemia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อกล่าวถึงโรคไขมันในเลือดสูง หลายๆท่านคงคุ้นเคยกับโรคนี้เป็นอย่างดี สาเหตุการเกิดโรคไขมันในเลือดสูงนั่นอาจเกิดจาก กระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกายผิดปกติ, โรค, ยาบางชนิด, จากการพฤติกรรมการบริโภคอาหาร, และการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงการทานอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่

  • ต้องการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง
  • และผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงที่ต้องการควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือในเกณฑ์ที่แพทย์ยอมรับ

โรคไขมันในเลือดสูงคืออะไร?

อาหารผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง คือ การที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ คือ

  • การมีปริมาณคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) สูง หรือ
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง หรือ
  • แอลดีแอลคอเลสเตอรอล (Low-Density Lipoprotein / LDL Cholesterol) สูง หรือ
  • มีระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (High density lipoprotein / HDL Cholesterol) ต่ำ

ทั้งนี้ พบว่า

  • ปริมาณคอเลสเตอรอลรวม, คอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL), และไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงจะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดการตีบตัน/หลอดเลือดแดงแข็ง ที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ(กลุ่มโรคเอนซีดี) เช่น
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • โรคหลอดเลือดหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • ส่วนคอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (HDL) เป็นไขมันชนิดดี ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ตารางที่ 1 ระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสม

ประเภทของกรดไขมันในอาหาร

กรดไขมันในอาหารมี 4 ชนิด ได้แก่

1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) พบมากในไขมันสัตว์ เช่น มันหมู มันวัว เนย ครีม (Cream) และเนยแข็ง เป็นต้น และน้ำมันพืชบางชนิด ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เป็นต้น ไขมันอิ่มตัวถ้าวางทิ้งไว้จะจับตัวเป็นไขได้ง่าย กรดไขมันชนิดนี้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลและแอลดีแอล (LDL) ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดีในเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับเอชดีแอล (HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ดีในเลือด

2. กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งหรือที่เรียกว่าเชิงซ้อน(Poly unsaturated fatty acid) พบมากใน น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งลดทั้งแอลดีแอล (LDL) และเอชดีแอล (HDL) ในเลือด

3. กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวหรือที่เรียกว่าเชิงเดี่ยว(Mono unsaturated fatty acid) พบมากใน น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา (Cannula oil) น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง และถั่วเปลือกแข็งบางชนิด เป็นต้น จะลดแอลดี (LDL) แต่เพิ่มระดับเอชดีแอล (HDL)

4. กรดไขมันชนิดทรานส์ (Trans fatty acid) มีมากในมาร์การีน (Margarine) เนยขาว ผลิตภัณฑ์เบเกอรี (Bakery) อาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เป็นต้น จะเพิ่มแอลดีแอล (LDL) และลดระดับเอชดี (HDL)

อาหารที่เหมาะสำหรับคนที่ไขมันในเลือดสูง

อาหารที่เหมาะสำหรับคนที่ไขมันในเลือดสูง ได้แก่

  • ควรทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยทานอาหารที่ให้พลังงาน และมีปริมาณไขมันที่เหมาะสม เนื่องจากพลังงานและไขมันที่เกินความต้องการจะเก็บสะสมในร่างกายในรูปของไขมันในเลือดและไขมันใต้ผิวหนัง รวมถึงไขมันในช่องท้องซึ่งนำไปสู่ภาวะ/โรคอ้วนลงพุง
  • ควรมีผักหรือใยอาหารทุกมื้อ พบมากในผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งใยอาหารมี 2 ชนิด คือ
    • ใยอาหารชนิดละลายน้ำ มีประโยชน์ลดการดูดซึมไขมันในอาหาร ทำให้สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ โดยอาหารที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำสูง ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย แอปเปิ้ล ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน เป็นต้น
    • ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ มีประโยชน์เพิ่มเนื้ออุจจาระ ป้องกันและลดอาการท้องผูก เช่น ผักชนิดต่างๆ ถั่ว และธัญพืช เป็นต้น
  • ควรบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของปริมาณพลังงานที่ต้องการในแต่ละวันโดยอ้างอิงตามธงโภชนาการ โดยความต้องการพลังงานของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไปดังนี้
    • 1,200 กิโลแคลอรี สำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วนและต้องการลดน้ำหนัก
    • 1,600 กิโลแคลอรี สำหรับหญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี หรือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
    • 2,000 กิโลแคลอรี สำหรับวัยรุ่นหญิง-ชาย อายุ 14-25 ปี หรือ ชายวัยทำงานอายุ 25-60 ปี
    • 2,400 กิโลแคลอรี สำหรับหญิง-ชายที่ใช้พลังงานมากๆ เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา

*หมายเหตุ : ในผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรลดพลังงานประมาณ 500-1,000 กิโลแคลอรี/วัน

ตารางที่ 2 ปริมาณอาหารควรได้รับในแต่ละวันตามระดับพลังงาน

  • ถ้ามีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจะต้องควบคุมการบริโภคผลไม้รสหวาน ของหวาน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) เป็นต้น เนื่องจากทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ลดการทานอาหารที่มีกะทิ ไขมันจากสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทอด ขนมอบประเภทเบเกอรีต่างๆ ที่ใช้เนย เนยขาว มาร์การีนเป็นส่วนประกอบ เช่น คุ้กกี้ เค้ก เป็นต้น
  • ควรทานหรือปรุงเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อหมูไม่ติดมัน นมไขมันต่ำหรือพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำร่วมกับการปรุงอาหารด้วยน้ำมันในปริมาณที่แนะนำ หรือเลือกกินอาหารที่ปรุงด้วยวิธีการที่ใช้น้ำมันน้อยได้แก่ ต้ม ยำ ย่าง อบ
  • หากทานถั่วเปลือกแข็ง กะทิ ครีมเทียม ควรลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร

ตารางที่ 3 ปริมาณไขมันและคอเลสเทอรอลในอาหาร

*หมายเหตุ: ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงควรบริโภคคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน และคนปกติทั่วไปควรบริโภคคอเลสเทอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน

  • ควรเลือกวิธีการประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันน้อย ได้แก่ ต้ม นึ่ง ย่าง อบ เป็นต้น การทอดหรือผัด จะทำให้ร่างกายได้รับไขมันมากขึ้น เช่น ไข่ต้ม 1 ฟอง มีไขมัน 5 กรัม ถ้านำไปทอดเป็นไข่ดาว ปริมาณไขมันจะเพิ่มเป็น 10 กรัม ซึ่งปริมาณไขมันที่ได้รับมากกว่าสองเท่า
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Alcohol) การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความต้องการ พลังงานที่เกินความต้องการจะเก็บสะสมในรูปของไขมันในเลือด นอกจากนี้การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะกระตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น
  • ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอคือ ‘การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ประมาณ 30-45 นาที/ครั้ง’ สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงเพิ่มระดับเอชดีเอล (ไขมันที่ดี) นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้น ได้แก่ การเดิน วิ่ง จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก รำมวยจีน รำกระบอง เป็นต้น

สรุป

โรคไขมันในเลือดสูงควรได้รับอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยมี

  • ผักหรือใยอาหารทุกมื้อ
  • เลือกทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ โดยการลดการกินอาหารที่มีกะทิ ไขมันจากสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทอด ขนมอบประเภทเบเกอรีต่างๆ ที่ใช้เนย เนยขาว มาร์การีนเป็นส่วนประกอบ เช่น คุ้กกี้ เค้ก เป็นต้น
  • อาหารที่ทานในหนึ่งวัน ควรเลือกทานอาหารที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบน้อย ได้แก่ ต้ม นึ่ง ย่าง อบ เป็นต้น
  • ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • และ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ควรออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

บรรณานุกรม

  1. องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับทุกช่วงวัย www.inmu.mahidol.ac.th/th/freebook_01.pdf [2018,Dec8]