อาหารป้องกันมะเร็ง (Diet for cancer prevention)

บทความที่เกี่ยวข้อง
อาหารป้องกันมะเร็ง

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาหรือเอซีเอส (ACS, American Cancer Society) ได้ให้คำแนะนำเป็นแนวทาง (Guidelines) ในเรื่องอาหารเพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง ในปีค.ศ. 2020 ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง CA Cancer J Clin 2020;70:245-271

สมาคมฯระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อย18%ของการเกิดโรคมะเร็งและ16%ของการตายจากโรคมะเร็งสัมพันธ์กับ ภาวะน้ำหนักตัวเกิน, ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย/มีกิจกรรมทางกาย/การออกกำลังกาย, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และภาวะขาดสารอาหารมีประโยชน์ ดังนั้นประชาชนและผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงสามารถป้องกันเกิดมะเร็งและดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งเพื่อลดอัตราตายได้ด้วยการดูแลตนเองด้านการบริโภคและร่วมการมีกิจกรรมทางกายตามคำแนะนำของสมาคม ซึ่งในที่นี้ขอสรุปเฉพาะที่สำคัญในเรื่องอาหาร ดังนี้

ทั่วไป:

  • ควรดูแลตนเองให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์พอดี(ดัชนีมวลกาย) ไม่ผอม และไม่มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และตลอดชีวิต
  • เมื่อมีน้ำหนักตัวเกิน หรือโรคอ้วนฯ ควรพยายามลดน้ำหนักเพราะการลดน้ำหนักได้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
  • พยายามออกกำลังกาย/เคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ, จำกัดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารไขมันต่างๆ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

เรื่องอาหาร, เครื่องดื่ม:

ก. อาหารที่ควรบริโภค: ได้แก่

  • อาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการคือ อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมคือ ที่ช่วยคงน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ(ดูได้จากค่าดัชนีมวลกาย) ควบคุมให้น้ำหนักตัวคงที่เสมอ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวที่ต่างกันในแต่ละช่วงอายุที่มากเกินไป
  • กินผักให้หลากหลายชนิด ผักหลากหลายสี เช่น เขียวเข้ม แดง ส้ม และเป็นชนิดมีใยอาหารสูง เช่น ถั่วต่างๆ, ถั่วกินฝัก, ฯลฯ
  • กินผลไม้ให้หลากหลายชนิด และหลากหลายสี เช่นกัน
  • กินแป้ง/ธัญพืชชนิดไม่ขัดสี(Whole grain)

ข. อาหารที่ควรจำกัดการบริโภค: ได้แก่

  • เนื้อแดง
  • เนื้อสัตว์แปรรูป
  • อาหารหวานจากน้ำตาล
  • อาหารแปรรูป(Processed foods)ทุกชนิด
  • แป้ง/ธัญพืชที่ขัดสีทุกชนิด (Refined grain products)

ค. ดีที่สุดคือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด: แต่ถ้าจะดื่ม

  • ผู้ชายต้องไม่เกินวันละ2ดริงค์(Drink)
  • ผู้หญิงต้องไม่เกินวันละ1ดริงค์

ง. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร: สำหรับคนปกติ เมื่อกินอาหารมีประโยชน์ครบถ้วนทั้งห้าหมู่ในทุกวัน ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันแน่ชัดว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดที่ป้องกันมะเร็งได้ ดังนั้นจนถึงปัจจุบัน สมาคมฯ ‘จึงไม่แนะนำ’ให้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดๆเพื่อเป็นการป้องกันโรคมะเร็ง

จ. อื่นๆ:

  • ชา กาแฟ: ยังไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็ง จึงไม่มีข้อห้าม ดื่มชา กาแฟ ในกรณีโรคมะเร็ง, แต่ในบางคนที่มีโรค/ภาวะที่แพทย์ให้จำกัด ชา กาแฟ ควรปฏิบัติตามนั้น เช่น นอนไม่หลับ การตั้งครรภ์ โรคกรดไหลย้อน
  • อาหารฉายรังสีเพื่อกำจัดเชื้อโรคในอาหารและรักษาให้อาหารอยู่ได้นานขึ้น: การศึกษายืนยันแน่ชัดว่า บริโภคได้ตามคุณค่าทางโภชนาการ ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง
  • อาหารผ่านการทำสุกด้วยไมโครเวฟ: การศึกษาไม่พบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ยกเว้นมีการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งจากภาชนะที่ใส่อาหาร ดังนั้นที่ปลอดภัย ภาชนะที่ใช้ควรเป็น แก้ว หรือ ภาชนะที่ทำเฉพาะสำหรับใช้กับไมโครเวฟ(Cookware)
  • นมถั่วเหลือง: ข้อมูลจากการศึกษายังไม่ชัดเจนในเรื่องความเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม แต่ในบางคนมีรายงานอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ ดังนั้นจึงแนะนำการบริโภคในแต่ละวันที่ไม่ควรมากเกินอาหารปกติ
  • อาหารออร์กานิค: การศึกษาปัจจุบัน สนับสนุนกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่รวมถึงพืช ผัก ผลไม้ ที่มีประโยชน์ และผ่านการทำความสะอาดที่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นผลิตผลจาก ออร์กานิค หรือ ไม่ใช่ออร์กานิค ก็ยังไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัดว่า ชนิดใดเป็นสารก่อมะเร็ง

ฉ. ภาคสังคม, เอกชน,ชุมชน, องค์กรต่างๆ ควรประสานงานซึ่งกันและกันในระดับชาติ, จังหวัด, และชุมชน, เพื่อช่วยเกื้อหนุนให้เกิด นโยบาย และการปฏิบัติ เพื่อ

  • ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากร

หมายเหตุ: โดยผู้เขียน

  • ประสิทธิผลในการช่วยป้องกันโรคมะเร็งจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อปฏิบัติควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย(การออกกำลังกายป้องกันโรคมะเร็ง)สม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ทั้งในเรื่องของ อาหาร เครื่องดื่ม และการออกกำลังกาย ไม่ได้หมายความว่า เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้วจะไม่เป็นมะเร็ง เพียงแต่จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะสาเหตุเกิดโรคมะเร็งมีหลักฐานว่ามาจากหลายๆปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะ อาหาร เครื่องดื่ม และการออกกำลังกายเท่านั้น เช่น เชื้อชาติ พันธุกรรม ภาวะแวดล้อม และการได้รับ สารก่อมะเร็ง

บรรณานุกรม

  1. C L, Rock, et al. CA Cancer J clin 2020;70:245-271
  2. https://www.cancer.org/healthy/eat-healthy-get-active/acs-guidelines-nutrition-physical-activity-cancer-prevention/guidelines.html [2021,Aug28]