อาหารปลอดภัย ครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ. สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

จุดประสงค์หลัก ก็เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ไม่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร และรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 5 โรคสำคัญที่ทำให้คนไทยอายุสั้นได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

ความปลอดภัยทางอาหาร (Food safety) เป็นระเบียบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการอาหาร การเตรียมอาหาร และการเก็บรักษาอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการป่วยจากอาหารเป็นพิษ (Foodborne illness) โดยมีขั้นตอนปฏิบัติหลายอย่างเพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากอันตรายที่อาจมีต่อสุขภาพ (Health hazards)

อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจก่อให้เกิดโรคอย่างเฉียบพลัน (Acute) และอย่างตลอดชีพ (Long-life) นับตั้งแต่อาการอุจจาระร่วง หรือท้องเสีย (Diarrhea) จนถึงการเป็นมะเร็ง (Cancer) ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้ประเมินว่าในแต่ละปีมีคนจำนวนถึง 2.2 ล้านคนที่เสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงจากอาหารและน้ำเป็นพิษ โดย 1.9 ล้านคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นเด็ก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้มีพันธกิจ (Mission) ที่จะช่วยให้สมาชิกพัฒนาความปลอดภัยด้านอาหารตลอดทั้งสายนับตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค

ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของมาตราฐานในการเตรียมอาหารเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าจะให้ความสำคัญในเรื่องความพอเพียงของน้ำที่ปลอดภัย (Safe water) เป็นประเด็นหลัก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้วางหลักเกณฑ์ของอนามัยด้านอาหารไว้ดังนี้

  1. มีการป้องกันการปนเปื้อน (Contamination) ด้วยเชื้อโรค (Pathogen) ในอาหารไปสู่คน สัตว์เลี้ยง และแมลง
  2. มีการแยกอาหารดิบและอาหารปรุงสุกแล้วเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในอาหาร
  3. ปรุงอาหารในระยะเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  4. เก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม
  5. ใช้น้ำและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร
นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหารที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ได้แก่ ISO 22000 (ISO = International Organization for Standardization) HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) GMP (Good Manufacturing Practice) เป็นต้น

เราสามารถส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการตามนโยบายอาหารปลอดภัย ด้วยการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับวิธีการใช้ การขนส่ง และการเก็บรักษาอาหารสด ตลอดจนการติดฉลากแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูล TTIs (Time Temperature Indicators) เกี่ยวกับวันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษา และข้อบ่งใช้ โดยปัจจุบันมีผู้ค้าปลีกหลายรายในฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ และยุโรปตะวันตกหลายแห่งได้เริ่มปฏิบัติแบบ TTIs แล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เดินหน้าประชาชนสุขภาพดี http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000050221 [2012, April 30].
  2. Food safety. http://en.wikipedia.org/wiki/Food safety [2012, April 30].
  3. Food safety. http://www.who.int/foodsafety/en/ [2012, April 30].