อาหารกับภาวะพร่องเอนไซม์ จีซิกพีดี (Nutrition and G6PD deficiency)

บทความที่เกี่ยวข้อง


อาหารกับภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี

บทนำ

เอนไซม์ G6PD มีความสำคัญช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ซึ่งภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD(ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) จะมีผลให้ผู้เป็นโรคนี้ มีเม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจาก ยา อาหาร และสารระเหยบางชนิด ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน/จีน G6PD โดยปัจจุบันมีรายงานกว่า 186 ชนิดทั่วโลก (Manucci et al., 2012) ) การกลายพันธุ์ของยีน G6PD สามารถแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม ในคนไทยพบชนิดเวียงจันทน์ ( Viangchan) ,มหิดล ( Mahidol ) และยูเนี่ยน ( Union )*

โรค/ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีนี้ ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ก็ต้องรู้จักระวังตัว จึงจำเป็นที่ผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์นี้ต้องเรียนรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากได้รับสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น เรียนรู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นถ้าได้รับสิ่งกระตุ้นและเรียนรู้การแก้ไขเบื้องต้นก่อนรีบไปพบแพทย์เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

* อนึ่ง ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นการกลายพันธุ์ที่จำเพาะต่อชาติพันธุ์ ที่พบบ่อยที่สุดมี 2 ชนิด คือ ชนิดมหิดล (G6PD Mahidol) และชนิดเวียงจันทน์ (G6PD Viangchan) การกลายพันธุ์ชนิดมหิดลพบได้มากที่สุดในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีน คือ พม่า มอญ กะเหรี่ยง ส่วนการกลายพันธุ์ชนิดเวียงจันทน์เป็น G6PD ประจำชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีความชุกสูงสุดในชาว เขมร ลาว และพบปานกลางใน ชาวไทย และมาเลย์ ซึ่งอยู่ตอนกลางของคาบสมุทร ส่วนการกลายพันธุ์ชนิดอื่นๆนอกเหนือจาก2ชนิดนี้ จะพบมากใน ชาวจีน และอินเดีย สามารถพบประปรายได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน

สิ่งกระตุ้นที่เป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดแดง

สิ่งกระตุ้นที่เป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดแดงที่พบบ่อย ได้แก่

1. ยารักษาโรค: เช่น ยาแอสไพริน(Aspirin) ยาโรคหัวใจ ยารักษามาเลเรีย ยาซัลฟา(Sulfa drug) เป็นต้น เมื่อเกิดเจ็บป่วย ผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ควรพบแพทย์และต้องแจ้งแพทย์ทราบว่าเป็นโรคนี้อยู่ หรือกรณีซื้อยากินเองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอร่วมกับต้องแจ้งเภสัชกรว่าตนเองเป็นโรคนี้

2. อาหาร: เป็นที่รู้กันแพร่หลายว่า ผู้เป็นโรคนี้ห้ามกิน ถั่วปากอ้า ในปัจจุบันพบว่า ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ “อาจ”มีผลต่อเม็ดเลือดแดงได้เช่นกัน เช่น บลูเบอร์รี่, ไวน์แดง, พืชตระกูลถั่ว, โทนิค, โซดาขิง, เป็นต้น โดย”อาจ”มีผลต่อผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ผู้เป็นโรคนี้จึงจำเป็นต้องสังเกตและเรียนรู้ด้วยตัวเองว่ามีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เมื่อกินอาหารชนิดนั้นๆ/อาหารต่างๆที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยงในการบริโภคโอกาสต่อไป

3. สารระเหยเพื่อช่วยดับกลิ่น: เช่น ลูกเหม็น การบูร พิมเสน เป็นต้น

4. ภาวะการติดเชื้อต่างๆ(โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ): อาจเป็นได้ทั้งจาก แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น เป็นโรคหวัด/ไข้หวัด(จากเชื้อไวรัส) หลอดลมอักเสบ (อาจจากแบคทีเรียหรือไวรัส) มาลาเรีย(จากสัตว์เซลล์เดียว) ก็ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้

อาหารและสารเคมีที่ไม่ควรบริโภค

อาหารและสารเคมีที่ ไม่ควรบริโภค คือ ที่ควรงด หรือ ที่ควรต้องระวัง จากมีรายงานว่า”อาจ”กระตุ้นให้เกิดอาการจากภาวะพร่องG6PDได้ ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น

1.ถั่วปากอ้า จะมีสารหลายประเภทที่เป็นสารกระตุ้น เช่น Vicine, Devicine, Convicine และ Isouramil ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระ

2.พืชตระกูลถั่วเป็นฝัก: เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นต้น

3. มะรุม

4.ไวน์แดง

5.บลูเบอรี่

6.โทนิค(Tonic Water): คือ เครื่องดื่มอัดแก๊ส ห้ามดื่มเพราะมีส่วนผสมของสารควินิน(Quinine, ตัวยาใช้รักษาโรคไข้มาเลเรีย)เพื่อทำให้โทนิคมีรสขม

7.โซดาขิง

8.ซัลไฟต์(Sulfite): คือวัตถุเจือปนในอาหารชนิดหนึ่ง ใช้เป็นสารกันบูด และเป็นวัตถุกันหืน(Antioxidants,สารป้องกันไม่ให้ไขมันในอาหารเกิดกลิ่นเหม็น) ซัลไฟต์ถูกใช้ในการถนอมรสชาติอาหาร รวมไปถึงลดการเน่าเสียของอาหาร, ช่วยทำให้ผักสดไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล, ไม่ให้แบคทีเรียเติบโตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มหลากหลายชนิด เช่น เบียร์ ไวน์, ช่วยยืดอายุของยารักษาโรค, และเป็นสารประกอบในสบู่ แชมพู

9.เมนทอล(Menthol): บางคนเรียกว่า การบูรเปปเปอร์มินต์ เป็นสารสกัดจากพืชที่เรียกกันว่า มินต์(Mint) ซึ่งพบมีมากกว่า 25 ชนิด สะระแหน่ก็จัดอยู่ในสกุลนี้ให้กลิ่นแรง หอม เย็น ซึ่งการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น

  • ใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น ทำยาหม่อง ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดท้อง บาล์ม(Balm,ยาขี้ผึ้ง)ต่างๆ, น้ำมันท่านวด, ยาทาแก้คัน, ยาแก้หวัด, ยาประเภทสูดดมต่างๆ
  • ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ เช่น ครีม แป้งหอม สบู่หอม โลชั่น แชมพู
  • ใช้เป็นสารปรุงรสและกลิ่น เช่น ลูกอม ยาสีฟัน หมากฝรั่ง บุหรี่

10.สารเคมีที่มีกลิ่น: เช่น ลูกเหม็น ยูคา พิมเสน การบูร เป็นต้น

*อนึ่ง ความรุนแรงของอาหารและสารเคมีต่อโรค/ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีจะแตกต่างกันไปใน แต่ละบุคคล/ผู้ป่วย อาหารบางอย่าง ผู้ป่วยบางคนกินได้ ผู้ป่วยบางคนกินไม่ได้ สารเคมีบางอย่างมีผลกับบางคน/บางผู้ป่วย ไม่มีผลกับบางคน/บางผู้ป่วย

*ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้ จึงต้องอาศัยการสังเกตด้วยตนเองเป็นหลักสำคัญที่สุด โดยนำข้อมูลจาก หนังสือ เว็บไซท์ ฯลฯ มาประกอบ และถ้าจะทดลองบริโภค ต้องเริ่มด้วยขนาด/ปริมาณที่น้อยมากๆ และ

*ต้องพร้อมที่จะรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อบริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติขึ้น

บรรณานุกรม

  1. ไข่มุกด์ ช่างศรีและทีม, “การพัฒนาเทคนิค Reverse Dot Blot Hybridization เพื่อใช้ตรวจยีนกลายพันธุ์ G6PD ในประชากรไทย” วารสารเทคนิคการแพทย์ปีที่ 44 ฉบับที่ 2 สิงหาคม 2559.
  2. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “มะรุมพืชที่ทุกคนอยากรู้” บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน จาก https;www.phamacy.mahidol.ac.th [2018,Feb10]
  3. พิมพ์ลักษณ์ เจริญขวัญ,รศ.พญ, “ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี” พ.ค.- ส.ค. 2557. อิศรางค์ นุชประยูร, “พันธุศาสตร์ก้าวหน้าสู่อาเซียน (Genetics towards ASEAN) ” การประชุมวิชาการ พันธุศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 18 National Genetics Conference 2013 17-19 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร. https://www.chemipan.com [2018,Feb10]