อาร์บูติน (Arbutin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอาร์บูติน(Arbutin) เป็นสารประกอบประเภทไกลโคไซด์(Glycoside) มีสูตรเคมีคือ C12H16O7 และสามารถสกัดสาร/ยาอาร์บูตินได้จากพืชจำพวกแบร์เบอร์รี่(Bearberry) ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พบมากในแถบอเมริกาเหนือและยุโรป ในอดีตมนุษย์ได้ใช้แบร์เบอร์รี่ที่มีส่วนผสมของอาร์บูตินมาทำเป็นยาสมุนไพรรักษาการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะและปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้นำสารอาร์บูตินมาผลิตเป็นเครื่องสำอางที่ช่วยลดจุดด่างดำบนผิวหนังที่รวมถึงในการดูแลรักษาฝ้า ด้วยคุณสมบัติของอาร์บูตินที่มีฤทธิ์ต่อต้านการรวมตัวของเม็ดสีอย่างเมลานิน(Melanin)ที่อยู่ในชั้นของผิวหนัง ความต้องการอาร์บูตินเป็นปริมาณมากๆทางอุตสาหกรรม จนไม่สอดคล้องกับอาร์บูตินที่สกัดได้จากแหล่งธรรมชาติ นักวิจัยพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยสังเคราะห์สาร/ยาอาร์บูตินบริสุทธิ์จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสาร2ตัว คือ Acetobromoglucose กับ Hydroquinone ในสภาวะที่เป็นด่าง อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์จากอาร์บูตินที่สกัดได้จากพืชน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคที่นิยมความเป็นธรรมชาติมากกว่า และถือเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์อีกด้วย

เราอาจพบเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์อาร์บูตินในลักษณะของเวชสำอาง ประเภทครีม โลชั่น สบู่หรือสเปรย์ ในแง่มุมของผู้บริโภคก่อนตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใดควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจถึงคุณประโยชน์ว่า ตอบสนองต่อความต้องการของตนเองได้จริงหรือไม่ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผิวพรรณ สามารถขอคำปรึกษาได้จากแพทย์ผิวหนัง เพื่อประเมินอาการและเข้ารับการรักษาผิวหนังที่เป็นจุดด่างดำได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อตนเอง

สรรพคุณของอาร์บูตินมีอะไรบ้าง?

อาร์บูติน

สาร/ยาอาร์บูตินถูกนำเสนอในสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ที่ช่วยป้องกันผิวหนังเกิดรอยคล้ำหรือเป็นจุดดำเนื่องจากการกระตุ้นด้วยแสงแดด ยาอาร์บูตินจะทำให้ผิวหนังดูสดใสขึ้น แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ยาอาร์บูตินในระยะยาว ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแล หรือทำตามคำแนะนำของแพทย์ผิวหนังร่วมด้วย เช่น การเลี่ยงสัมผัสแดดจัด การเลือกอาหารที่บำรุงร่างกายและผิวพรรณอย่างเหมาะสม ตลอดจนกระทั่งการพักผ่อน การออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้มีสุขภาพและดูกระจ่างอ่อนเยาว์ได้ยาวนาน

กลไกการออกฤทธิ์ของอาร์บูตินเป็นอย่างไร?

สาร/ยาอาร์บูตินมีกลไกการออกฤทธิ์ ในการยังยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อ ไทโรซิเนส(Tyrosinase)ซึ่งมีความจำเป็นต่อการผลิตเม็ดสี เมลานิน ของร่างกาย ส่งผลให้การรวมตัวของเมลานินที่บริเวณผิวหนังลดน้อยลง การเกิดจุดดำบนผิวหนังถูกจำกัด ปิดกั้น จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

อาร์บูตินปลอดภัยหรือไม่?

ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาร์บูตินที่มีส่วนประกอบของสาร/ยาอาร์บูตินที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ประเด็นที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนังชนิดใดก็ตาม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องไม่กระตุ้นหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ อาการระคายเคืองต่อผิวหนัง จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผิวหนัง แม้สารอาร์บูตินที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติเอง ก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม เพื่อทำให้ผิวหนังดูกระจ่างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาความเสี่ยงของการใช้อาร์บูตินในแง่การกระตุ้น มะเร็งพบว่า แบคทีเรียในลำไส้เล็กของมนุษย์สามารถเปลี่ยนอาร์บูตินไปเป็นสารประเภทไฮโดรควิโดน(Hydroquinone) ซึ่งสามารถทำให้เกิดมะเร็งในลำไส้เล็กได้ ทำให้มีคำถามว่าอาร์บูตินจะมีผลเช่นไรกับผิวหนัง ผู้บริโภคอาจได้รับคำตอบว่า อาร์บูตินไม่กระตุ้นการเกิดมะเร็งเหมือนไฮโดรควิโนน กลไกการทำงานอย่างหนึ่งของอาร์บูตินคือยับยั้งการก่อตัวของเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง และประโยชน์ของเมลานินตามธรรมชาติอีกประการหนึ่งคือ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นของแสงแดด ดังนั้นผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณอย่างเหมาะสมและเป็นกลางต่อผลิตภัณฑ์ประเภทนี้

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนังใดๆ ควร ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนัง หรือเภสัชกร เพื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อตนเอง

ผลิตภัณฑ์ของอาร์บูตินที่มีจำหน่ายมีชื่อว่าอะไรบ้าง?

ขอยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์สาร/ยาอาร์บูตินที่มีการจัดจำหน่ายดังนี้

1. SKIN-ION (สกิน-ไออน): เป็นผลิตภัณฑ์ยาแบบสเปรย์ผิวหนัง ประกอบด้วย Arbutin 0.8 มิลลิลิตร + Adenosine 0.016 มิลลิลิตร + Glycerin 0.8 มิลลิลิตร/40 มิลลิลิตร ผลิตภายใต้ลิขสิทธิ์ของประเทศเกาหลี

2. Dr Young 2p Brightening UV Sun Block SPF50 PA (ด็อกเตอร์ยัง 2พี ไบร์ทเทนนิ่ง ยูวี ซันบล็อก เอสพีเอฟ50 พีเอ): เป็นผลิตภัณฑ์ยาครีมทาผิวหนัง ประกอบด้วย Arbutin เข้มข้น 5 มิลลิลิตร/50 มิลลิลิตร ดำเนินการผลิตโดย The Doctor’s Cosmetic Inc

3. Isaknox White Symphony Brightening Emulsion (ไอเซนอกซ์ ไวท์ ซิมโฟนี ไบร์ทเทนนิ่ง อีมัลชั่น): เป็นผลิตภัณฑ์โลชั่นทาผิวหนัง ประกอบด้วย Arbutin เข้มข้น 2.1 กรัม /100 กรัม ดำเนินการผลิตโดย Lg Household & Health Care Ltd.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Arbutin [2018,March3]
  2. https://www.livestrong.com/article/339696-the-health-benefits-of-melanin/ [2018,March3]
  3. https://www.drugs.com/otc/100763/skin-ion.html [2018,March3]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB11217 [2018,March3]