อาชีพเสี่ยงซึมเศร้า เฝ้าดูแลตามบ้าน (ตอนที่ 2 และตอนสุดท้าย)

การเฝ้าดูแลผู้ป่วยตามบ้าน (Home care) เป็นบริการที่มีผู้ต้องการมากที่สุด ใน 2–3 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ให้บริการดังกล่าว ได้เกิดขึ้นมากมายเหมือนดอกเห็ด ในเกือบทุกๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา และเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมบริการใหม่ที่มีความต้องการที่เติบโตต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะความประสงค์ที่จะอยู่อาศัยในบ้าน [โดยเฉพาะของผู้ป่วยสูงอายุ มากกว่าไปอยู่สถานพยาบาลระยะยาว (Long-term care) เหมือนในอดีต)

กิจกรรมของการบริการเพื่อช่วยผู้ป่วยดังกล่าว สามารถแยกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • กิจกรรมทั่วไปประจำวัน (Activities of daily living : ADL) ที่สะท้อนถึงความสามารถของผู้ป่วยที่จะดูแลตนเอง ประกอบด้วยงาน 6 อย่างอันได้แก่ การอาบน้ำ การแต่งกาย การเคลื่อนย้าย การใช้ห้องน้ำ การรับประทานอาหร และการเดินเหิน
  • กิจกรรมดำรงชีพประจำวัน (Instrumental activities of daily living: IADL) ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตตามลำพังในชุมชนได้ ประกอบด้วย งาน 6 อย่างอันได้แก่ การทำงานบ้านชนิดเบา การเตรียมอาหาร การกินยา การจ่ายตลาดอาหารหรือเสื้อผ้า การใช้โทรศัพท์ และการบริหารเงินส่วนตัว

ประโยชน์ที่จะได้จากบริการดังกล่าวคือความสะดวกสบายของผู้ป่วย [เหมือนคนรับใช้ในบ้าน ในประเทศไทย เพียงแต่ผู้รับใช้เป็น “มืออาชีพ” มากกว่า] ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย (Custodial care) เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว (Out-of pocket payment) ที่จ่ายจากเงินสะสมของผู้ป่วยเอง จากครอบครัว หรือจากญาติสนิทมิตรสหาย ของผู้ป่วย

สวัสดิการของรัฐ หรือบริษัทประกันสุขภาพ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย เพื่อเป็นค่านักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professional) ซึ่งมักเริ่มด้วยพยาบาลวิชาชีพ (Registered nurse : RN) แล้วตามด้วยนักกายภาพบำบัด (Physical therapist) และผู้ช่วยพยาบาล (Nurse aide or Nurse assistant: NA)

นอกจากนี้ยัง อาจมีนักวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ มาสมทบด้วย อาทิ นักบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory therapist) และนักอาชีวะบำบัด (Occupational therapist) นักสังคมสงเคระห์การแพทย์ (Medical social worker) และนักสุขภาพจิต (Mental health worker) ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

ในสหรัฐอเมริกา โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Medicare) และผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ (Medicaid) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดูแลผู้ป่วยตามบ้าน จำนวน 710,000 คน ที่จำเป็นต้องรับการดูแลจากผู้มีทักษะ (Skilled need) กล่าวคือนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ ในขณะที่บริษัทประกันสุขภาพเอกชน (Private health insurance) และองค์การทหารผ่านศึก (Veterans Administration: VA) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการดูแลผู้ป่วยตามบ้าน จำนวน 235,000 คน

นักวิจัยทีมหนึ่งพบว่า ในกรณีการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง หลังจากผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว การเฝ้าดูแลตามบ้าน (Home nursing care) จะมีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วย มากกว่าการให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานพยาบาลพักฟื้น (Nursing-home care) แต่นักวิจัยอีกทีมหนึ่งพบว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อในชุมชน (Community-acquired infection) จากการเฝ้าดูแลตามบ้าน จะสูงกว่าจากสถานพยาบาลพักฟื้น

แหล่งข้อมูล:

  1. 10 อาชีพเสี่ยงโรคซึมเศร้า - ใช่คุณหรือเปล่า??? http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332495598 [2012, April 17].
  2. Home care. http://en.wikipedia.org/wiki/Home_care [2012, April 17].
  3. In-home care. http://www.inhomecare.com/ [2012, April 17].