อาชีพเสี่ยงซึมเศร้า เฝ้าดูแลตามบ้าน (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า (Depression) มากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเครียด (Stress) เว็บไซต์ health.com ได้สำรวจอาชีพซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มากกกว่าอาชีพอื่นๆ ไว้ทั้งหมด 10 อันดับด้วยกัน อันดับแรก คือ พยาบาลเฝ้าดูแลผู้ป่วยตามบ้าน (Home-care nurse)

Christopher Willard นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Tufts ในเมือง Medford รัฐแมสซาชูเสตส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าดูแลผู้อื่นเป็นการส่วนตัว อาทิ พยาบาลตามบ้าน มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด เพราะพวกเขาต้องคอยดูแลผู้อื่นอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการป้อนอาหาร หรืออาบน้ำ แต่กลับไม่ได้รับคำแสดงความขอบคุณ หรือแสดงความซาบซึ้งใจเท่าที่ควร เพราะผู้ที่ได้รับการดูแลมักเป็นผู้ป่วยหนัก ที่มองว่า พยาบาลทำงานตามหน้าที่เพื่อแลกกับเงินอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้อง “เป็นบุญคุณ” กันมากนัก

การเฝ้าดูแลตามบ้าน (Home care) หมายถึงการเฝ้าดูแลสุขภาพ หรือสนับสนุนการดูแลสุขภาพตามบ้านของผู้ป่วย โดยนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professional) ที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนไว้ อาทิ พยาบาลวิชาชีพ (Registered nurse: RN) ในประเทศไทย และพยาบาลนักปฏิบัติ (Nurse practitioner: NP) ที่ใบประกอบวิชาชีพ (License) ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ อาจมีผู้ช่วยเฝ้าดูแลตามบ้าน (Home care aide) และนักสังคมสงเคราะห์ (Social worker) แต่งานบริการฟื้นฟู (Rehabilitation) มักเป็นหน้าที่ของนักกายภาพบำบัด (Physical therapist) นักอาชีวะบำบัด (Occupational therapist) นักบำบัดการพูดและภาษา (Speech-and-language pathologist) และนักโภชนาการ (Dietitian)

พยาบาลเฝ้าดูแลตามบ้าน มักหมายถึง ผู้มีทักษะความชำนาญในการดูแลสุขภาพผู้ป่วย ส่วนผู้ช่วยเฝ้าดูแลตามบ้าน มักหมายถึงผู้ได้รับการฝึกฝนอบรมเรื่องการช่วยผู้ป่วยรับประทานอาหาร ขับถ่าย อาบน้ำ และแต่งตัว ในประเทศอังกฤษ อาจใช้คำว่า "Domiciliary care" แทนคำว่า “Home care”

การเฝ้าดูแลตามบ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในบ้านตนเองได้ แทนที่จะต้องไปพักอาศัยในสถานพยาบาล เป็นเวลายาวนาน ผู้ให้การดูแลสามารถให้บริการต่างๆ ภายในบ้านผู้ป่วย อาทิ บริการดูแลสุขภาพของนักวิชาชีพ ซึ่งอาจรวมถึงการประเมินทางการแพทย์หรือจิตวิทยา สภาพแผล (Wound care) การสอนเรื่องยา การบริหารความเจ็บปวด (Pain management) การให้การศึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ (Disease education) ตลอดจนถึงกายภาพบำบัด การพูดบำบัด หรือ อาชีวะบำบัด

นอกจากนี้ ยังมีบริการช่วยประทังชีวิต (Life assistance) ซึ่งอาจรวมถึง การให้ความช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน อาทิ เตรียมอาหาร เตือนให้กินยา (Medication reminder) ซักรีดเสื้อผ้า ทำงานบ้านชนิดเบา จัดแจงธุระเล็กๆ น้อยๆ ไปจ่ายตลาด ขนส่งเดินทาง และเป็นเพื่อนคู่ยาก (Companionship)

การเฝ้าดูแลตามบ้านมักเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการฟื้นฟู (Recovery) หลังออกจากโรงพยาบาล (Post-hospitalization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ (Discharge) ในขณะที่ป่วยยังคงต้องการความช่วยเหลือในบางระดับทางกายภาพอย่างสม่ำเสมอ

แหล่งข้อมูล:

  1. 10 อาชีพเสี่ยงโรคซึมเศร้า - ใช่คุณหรือเปล่า??? http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332495598 [2012, April 16].
  2. Home care. http://en.wikipedia.org/wiki/Home_care [2012, April 16].