อากาศเย็น...เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน (ตอนที่ 1)

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยหนาวเย็นขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสภาพอากาศที่เย็นจะมีความเหมาะสมต่อการระบาดของเชื้อโรคหลาย ชนิด เช่น ไข้หวัดไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและโรคไข้หวัดนก

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงต่อการป่วย จากโรคดังกล่าว ที่ไม่ควรละเลย คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานต่ำ นอกจากนี้ โดยปกติผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต้องดูแลตนเองใน 3 เรื่องสำคัญ คืออาหาร การออกกำลังกาย และกินยาควบคุมอาการอยู่แล้ว

แต่เมื่อถึงฤดูหนาว คนที่เป็นโรคประจำตัว โดยเฉพาะ 3 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 15 ล้านคน ต้องดูแลตนเองให้ร่างกายอบอุ่นเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่ออากาศหนาวเย็น ความชื้นในอากาศลดลงผิวหนังจะแห้งและคัน เมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังอักเสบง่าย และในกลุ่มผู้ป่วย เบาหวาน เมื่ออากาศเย็นลงจะมีปัญหาระบบการไหลเวียนเลือด ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลง เร็วกว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังพบว่าอุณหภูมิที่ลดลงมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะเลือดมีความหนืดขึ้น ส่งผลให้หัวใจ ทำงานหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยง ของการเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน (Heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2

ในเรื่องโรคหัวใจเฉียบพลันที่เกิดขึ้นในหน้าหนาว (Winter heart attack) คงมีหลายคนที่ยังไม่ทราบว่าอากาศที่เย็นลงนั้นเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน ความเสี่ยงที่สุดอยู่ที่ช่วงสองสัปดาห์แรกของหน้าหนาว และเสี่ยงที่สุดสำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 75 - 84 ปี รวมไปถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือด เลี้ยงหัวใจอุดตัน (Coronary heart disease)

สาเหตุของปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ เริ่มมาจากการที่อากาศหนาวเย็นนั้นไปเพิ่มความดันเลือด พร้อมๆกับที่เพิ่มระดับของโปรตีนที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน นอกจากนี้ เมื่ออากาศหนาว หัวใจคนเรายังต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับความร้อนของร่างกายไว้ จึงทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว ซึ่งไปขัดขวางไม่ให้เลือดไหลเวียน และลดปริมาณออกซิเจนในหัวใจเรา

เมื่อรวมปัจจัยต่างๆดังกล่าวเข้าด้วยกัน ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ หรือในผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง เกี่ยวกับเรื่องของสภาวะร่างกายที่มีอุณหภูมิต่ำเกินไป (Hypothermia) ซึ่งมีสาเหตุหลักของการตายมาจากโรคหัวใจล้มเหลวเป็นหลักอีกด้วย

อีกสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจเฉียบพลันที่เกิดขึ้นในหน้าหนาว ที่อาจไม่มีใครเคยคิดถึงมาก่อนก็คือ การที่หน้าหนาวนั้น ฟ้ามืดเร็วนั่นเอง กล่าวคือ แสงยูวีบี (UVB) ที่ผลิตวิตามินดีนั้นมีประโยชน์ต่อโรคหัวใจ ถ้าระดับของวิตามินดีในร่างกาย ไม่เพียงพอ สุขภาพหัวใจของคุณก็มีแนวโน้มเสี่ยงในอนาคต

เหตุผลก็คือวิตามินดีเป็นสารตั้งต้นทางเคมีตัวเดียว ที่ทำหน้าที่ รองรับระบบการทำงานต่างๆที่ควบคุมโดยพันธุกรรมในร่างกาย ซึ่งเป็นที่มาของการที่วิตามินดีนั้นปฏิบัติงานได้ในเนื้อเยื่อ หลายชนิดด้วยกัน และยังมีผลกระทบต่อโรคต่างๆจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโรคหัวใจนั่นเอง

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อากาศเย็นเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน http://www.naewna.com/local/34330 [2013, January 3].
  2. Why Your Heart Attack Risk May Increase This Winter. http://articles.mercola.com/sites/articles/archive/2010/09/11/why-your-heart-attack-risk-may-increase-this-winter.aspx [2013, January 3].